เหตุการณ์สู้รบครั้งล่าสุดระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) บริเวณที่มั่นของฝ่ายกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตากของไทย ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงลี้ภัยเข้ามาฝั่งไทยระลอกล่าสุด ไม่ต่ำกว่า 5,000 คนแล้ว
โซ วิน ตัน บรรณาธิการแผนกภาษาเมียนมา ของบีบีซี อธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังแบบเข้าใจง่าย
เกิดอะไรขึ้น ?
หากมองการสู้รบเฉพาะบริเวณพรมแดน จะพบว่าเกิดขึ้นในหลายจุด ไม่เฉพาะที่บริเวณชายแดนด้านฝั่งตรงข้ามกับประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นบริเวณพรมแดนด้านที่ติดกับจีน อินเดีย และบังกลาเทศ โดยเป็นการสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธ The People’s Defense Force หรือ พีดีเอฟ กับทหารของกองทัพเมียนมา
พีดีเอฟ เป็นกลุ่มติดอาวุธที่ The National Unity Government (เอ็นยูจี) หรือรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021
พื้นที่สู้รบที่หนักที่สุดอยู่ในรัฐชิน ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนด้านที่ติดกับอินเดีย และในเขตสะกายทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ทั้งสองพื้นที่นี้มีสมาชิกกลุ่มพีดีเอฟที่เข้มแข็งที่สุด และเป็นกลุ่มแรกที่จับอาวุธต่อสู้กับกองทัพตั้งแต่เดือนมีนาคม หลังจากมีการเดินขบวนประท้วงอย่างสันติ แต่ต้องเผชิญกับการปราบปราม
ขณะที่ในรัฐกะยา ทางตะวันออกของประเทศ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์เลวร้าย ล่าสุดมีการพบศพผู้เสียชิต 38 ศพ จากเหตุการณ์ที่กองทัพบุกโจมตีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร
ในเวลาเดียวกันฝ่ายสนับสนุนของพีดีเอฟในภาคกลาง รวมทั้งในเมืองย่างกุ้ง ก็เริ่มสู้รบกับกองทัพในพื้นที่ของตัวเองแล้ว โดยแกนนำคือคนหนุ่มสาว และการต่อต้านเกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้มากกว่าตามแนวชายแดน
สถานการณ์ชายแดนฝั่งตรงข้ามไทยเป็นอย่างไร ?
เหตุการณ์รุนแรงระลอกล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อกว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ทหารของกองทัพเมียนมาเข้าไปยังหมู่บ้านเลเตก่อ ในพื้นที่ควบคุมของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู)
ก่อนหน้านี้รัฐบาลเมียนมาชุดที่แล้วและกลุ่มเคเอ็นยู ด้วยการสนับสนุนของญี่ปุ่น ตกลงกันจัดหาพื้นที่รองรับชาวเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงที่ต้องการเดินทางกลับจากต่างประเทศมาอยู่ในเมียนมา
แต่ล่าสุดทหารเมียนมาได้เข้าไปในบริเวณดังกล่าวโดยได้รับอนุญาตจากเคเอ็นยูเพื่อไปตามหาผู้หลบหนีการจับกุมของกองทัพหลังเกิดรัฐประหาร อย่างไรก็ดี เมื่อทหารเมียนมาเข้าไปในพื้นที่กลับมีการจับกุมคนจำนวนหนึ่ง รวมทั้ง ส.ส.ของพรรคเอ็นแอลดี และนักรบของพีดีเอฟด้วย จึงทำให้กลุ่มเคเอ็นยูสกัดไม่ให้ทหารของกองทัพเมียนมาออกจากพื้นที่ จนเกิดการสู้รบ และมีทหารถูกฆ่าจำนวนหนึ่ง
กองทัพเมียนมาตอบโต้ด้วยการใช้อาวุธหนักและการโจมตีทางอากาศ จนทำให้มีผู้ลี้ภัยหลบหนีข้ามฝั่งไปยังประเทศไทย
แม้เคเอ็นยูและกองทัพเมียนมาเคยลงนามในข้อตกลงหยุดยิง แต่ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่าข้อตกลงนี้ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว
กลุ่มต่อต้านเอาอาวุธมาจากไหน?
เดิมทีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารใช้อาวุธที่ทำขึ้นเอง เช่น มีด และระเบิดที่ทำขึ้นเอง แต่หลังจากถูกปราบปราม พีดีเอฟก็ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธและการฝึกฝนจากกลุ่มอื่น ๆ ที่ปฏิบัติการอยู่ตามแนวชายแดนไทย ลาว เมียนมา จีน อินเดีย และบังกลาเทศ
ล่าสุดรัฐบาลทหารประกาศให้ประชาชนที่มีอาวุธในครอบครอง นำมาส่งมอบให้ทางการภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีผู้นำอาวุธไปส่งมอบ เพราะเกรงจะถูกลงโทษ ถูกซักถามถึงที่มาของอาวุธ ทั้งยังจะทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหารไม่มีอาวุธไว้ต่อกร
สถานภาพของรัฐบาลทหาร ?
ขณะนี้พูดได้ว่าประชาชนเกือบทั้งประเทศพากันต่อต้านกองทัพและรัฐบาลทหาร โดยแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านทางโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของ Civil Disobedience Movement (ซีดีเอ็ม) ซึ่งเป็นขบวนการอารยะขัดขืน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้าราชการ แพทย์ ครู พากันหยุดงาน ทำให้โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน สภาพเศรษฐกิจในเมียนมาย่ำแย่ถึงขั้นที่ภาคธนาคารใกล้ล่มสลาย
“เกือบทั้งประเทศต่อต้านทหาร รัฐบาลกำลังเผชิญปัญหาในสภาพที่หนักหนาสาหัสที่สุด แต่เชื่อว่าสำหรับรัฐบาลทหารแล้วขณะนี้มาถึงจุดที่กู่ไม่กลับ แต่จะยังคงยึดเกาะกับอำนาจอยู่ต่อไป ไม่เช่นนั้นก็จะต้องพบกับจุดจบ เพราะฝ่ายต่อต้านเอ็นยูจีบอกว่าไม่ต้องการต่อรองอะไรอีกแล้ว ทางออกจึงเหลือไม่มาก นอกจากการปะทะกันอย่างรุนแรง จนกว่าจะมีการแทรกแซงจากต่างประเทศ โดยผู้ที่สามารถควบคุมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้”
ท่าทีไทยและอาเซียน ?
เชื่อว่ากลุ่มติดอาวุธพีดีเอฟ ต้องการเห็นไทยตอบโต้ทหารพม่าจากการที่ใช้อาวุธปราบปรามจนกระทบมายังฝั่งไทย อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยคงไม่ต้องการทำเช่นนั้น เพราะทั้งรัฐบาลทหารไทยและเมียนมามีสัมพันธ์อันดีต่อกัน
ส่วนในระดับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนนั้น บรูไนประเทศประธานอาเซียนเคยถูกกดดันจากสมาชิกอย่างอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ให้ใช้ไม้แข็งกับเมียนมา แต่นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชาซึ่งกำลังจะขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปี 2022 กลับแสดงท่าทีตรงกันข้ามโดยพยายามที่จะดึงเมียนมาให้เข้ามามีบทบาทในอาเซียนอีกครั้ง และยังประกาศจะเดินทางเยือนเมียนมาในต้นเดือนมกราคมนี้ ตามคำเชิญของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ด้วย