เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.) กระทรวงสาธารณสุขประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนในไทย ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุดคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 30,00-40,000 คน เสียชีวิตวันละ 170-180 คน ส่วนกรณีที่ดีที่สุด คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อวันละ 10,000 คน เสียชีวิตวันละ 60-70 คน โดยประชาชนต้องลดกิจกรรมการรวมกลุ่ม และมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นในอัตรามากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์
ขณะนี้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ได้แพร่กระจายไปแล้ว 17 จังหวัด มียอดผู้ติดเชื้อเกินกว่า 500 คน
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยว่าน่ากังวล ทั้งจากความจริงที่ว่าเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเป็นทวีคูณ และจากการที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ยังได้รับวัคซีนโควิด-19 เพียง 2 เข็ม ขณะที่ประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงเกินหนึ่งแสนคนต่อวัน และมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนจำนวนมากอย่างในสหราชอาณาจักร ประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว
“ดังนั้นตัวเลขตรงนี้ของไทยน่ากลัวว่าจะไปไกลกว่าอังกฤษ ด้วยอัตราการแพร่กระจายของเชื้อ และการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ดี การที่คนไทยสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดอาจช่วยให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไปถึงแสนไม่เร็วเท่าอังกฤษ แต่ท้ายที่สุดแล้วตัวเลขจะไม่ใช่หลักพันและหลักหมื่นอย่างที่รัฐบาลประเมิน” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค บอกบีบีซีไทย
ดร.อนันต์ มั่นใจว่า ยอดผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนในไทยจะพุ่งแซงเชื้อเดลตาที่ยังระบาดอยู่ในหมู่ประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นั่นไม่ได้หมายความว่าเชื้อเดลตาจะหมดไป แต่จะมีวงจรกลับมาระบาดได้อีก
เขาอธิบายว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วสามารถติดเชื้อโอมิครอนได้ซึ่งจะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันไวรัสกลายพันธุ์นี้ตามธรรมชาติ ในเวลาเดียวกันภูมิคุ้มกันเชื้อเดลตาเริ่มลดลงจากช่วงเวลารับวัคซีนที่ห่างออกไป ซึ่งภูมิคุ้มกันโอมิครอนก็ไม่สามารถป้องกันเชื้อเดลตาได้
“การระบาดจึงจะเป็นวงจรแบบนี้ ซึ่งเราคงจะหนีการติดเชื้อไม่ได้ มันจะอยู่อีกหลายปี แต่เชื่อว่าอาการของโรคจะน้อยลงเรื่อย ๆ คนที่ติดอาจป่วยน้อยลง จนไม่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น และกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่ ฉากทัศน์นี้จะเกิดขึ้น เว้นเสียแต่ว่าจะมีเชื้อกลายพันธุ์ที่ระบาดอย่างฉับพลันเหมือนโอมิครอนมาอีก”
อังกฤษยังไม่มีมาตรการใหม่
ในต่างประเทศ เช่นในอังกฤษรัฐบาลยังไม่ได้ออกมาตรการใหม่มาบังคับใช้นอกเหนือไปจากขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะอย่างบริการขนส่งสาธารณะ ให้ตรวจหาเชื้อโควิดก่อนไปเยี่ยมญาติที่เป็นคนชรา หรือผู้ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะติดโรค ประชาชนต้องแสดงเอกสารว่าได้รับการฉีดวัคซีนครบก่อนจะเข้าไปในไนต์คลับและสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก รัฐบาลยังขอให้คนทำงานที่บ้านหากเป็นไปได้
แต่ในสกอตแลนด์ตั้งแต่หลังวันคริสต์มาสเป็นต้นมา อนุญาตให้คนเข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่ปิด ยืนได้ 100 คน นั่ง 200 คน และกลางแจ้ง ยืนหรือนั่งได้ไม่เกิน 500 คน และปิดบริการไนต์คลับ ในเวลส์ห้ามจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวเป็นจำนวนมาก โดยกรณีที่เป็นสถานที่ปิด มีคนเข้าร่วมได้ไม่เกิน 30 คน กลางแจ้งไม่เกิน 50 คน ไอร์แลนด์เหนือปิดบริการไนต์คลับ ห้ามการเต้นรำในทุกสถานบริการ และห้ามจัดกิจกรรมในสถานที่ปิดที่ผู้เข้าร่วมต้องยืนรวมกันทั้งหมด
เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.) สหราชอาณาจักรรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ว่ามีจำนวน 129,471 คน เสียชีวิต 18 คน ส่วนในไทย ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวานนี้ 2,305 คน เสียชีวิต 32 คน
เชื่อปลาย เม.ย.ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในไทยจะติดเชื้อโอมิครอน
แต่ในไทยซึ่งเทศกาลฉลองปีใหม่กำลังจะมาถึง ดร.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย บอกบีบีซีไทยว่า กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าเมื่อผ่านพ้นวันสิ้นปีไปแล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อโอมิครอนน่าจะแตะหลักพันคน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงภาครัฐจะต้องเข้มงวดในการบังคับใช้ข้อกำหนดที่ออกมา ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ หรือจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในระยะใกล้ชิด และกวดขันการสวมหน้ากากอนามัย ในเวลาเดียวกันก็จะต้องประเมินความรุนแรงของโรค เนื่องจากข้อมูลทั่วโลกและในไทยชี้ว่าโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา จึงอาจยอมให้มีผู้ป่วยได้จำนวนหนึ่ง
“โอมิครอนวันละหมื่นอาจจะพอไหว เพราะเทียบเท่ากับเดลตาสองหมื่น ความรุนแรงลดลงครึ่งหนึ่ง ระบบโรงพยาบาลอาจพอรองรับไหว และหากประชาชนระวังตัวมากขึ้น โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าไม่น่าจะบอบช้ำมาก” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุ
ดร.นิธิพัฒน์ประเมินว่า หากสามารถชะลอสถานการณ์ได้ ก็คาดว่าเมื่อถึงปลายเดือนเมษายนผู้ป่วยโรคโควิดส่วนใหญ่ในไทยจะเกิดจากการติดเชื้อโอมิครอน แต่หากไม่สามารถชะลอได้ ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็จะเห็นการระบาดของเชื้อโอมิครอนเป็นหลัก เขาอธิบายว่าทั้งหมดนี้ประเมินจากลักษณะการระบาดของเชื้อเดลตาที่เริ่มเข้ามาแทนที่เชื้ออัลฟาในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2564 แต่เมื่อถึงเดือนสิงหาคม เชื้อที่ระบาดส่วนใหญ่เป็นเชื้อเดลตาแล้ว
“เราจะยื้อเวลา เพื่อรอวัคซีนรุ่นใหม่ที่คาดว่าจะออกมาในเดือนเมษายน โดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลกรับปากว่าจะพัฒนาให้รับมือกับเชื้อโอมิครอนได้ ถ้าเราชะลอได้ ก็จะสูญเสียน้อย” นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าว
ขอมาตรการแบบ “พบกันครึ่งทาง”
ขณะที่ ดร.อนันต์ เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการในขณะนี้คือกำหนดมาตรการแบบ “พบกันครึ่งทาง” โดยรัฐบาลควรทำหน้าที่ระงับความเสี่ยงโดยใช้เทคโนโลยีและงบประมาณที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์ที่สุดเพื่อให้ประชาชนยังทำมาหากินได้ และภาคธุรกิจยังเปิดต่อไปได้
เขาแนะให้รัฐบาลอุดหนุนเงินช่วยเหลือให้ประชาชนทุกครัวเรือน ซื้อชุดตรวจเร็วมาตรวจได้เป็นประจำ หากพบว่าผลตรวจจากชุดตรวจเร็วเป็นบวก ในกรณีคนหนุ่มสาวก็ให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน จนกว่าจะมีผลตรวจเป็นลบโดยไม่ต้องรอผลตรวจพีซีอาร์ซ้ำ แต่กรณีที่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงจะต้องรีบให้การรักษาอย่างทันท่วงที
“ตอนนี้คนไทยไม่ค่อยกลัวโควิด แต่กลัวล่มจมมากกว่า รัฐบาลสามารถนำเงินที่เคยใช้อย่างในโครงการคนละครึ่งมาสนับสนุนประชาชนในส่วนนี้ได้ การให้เงิน 200 บาท ซื้อชุดตรวจ 4 ชุด คุ้มกว่าการที่ประชาชนต้องรอผลตรวจพีซีอาร์โดยที่ขยับทำอะไรไม่ได้ ธุรกิจ ร้านอาหาร ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องปิด ต้องรอ 14 วัน ทุกอย่างพังทลายหมด”
นักไวรัสวิทยาบอกด้วยว่าหากตัวเลขผู้ติดเชื้อโอมิครอนในไทยแตะระดับหมื่น การล็อคดาวน์ก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ควรบริหารความเสี่ยงและปล่อยให้สถานการณ์อยู่ในสภาพสมดุล เช่น เปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้าประเทศ กำหนดระยะเวลากักตัว และตรวจหาเชื้ออย่างน้อยสองครั้ง เป็นต้น ในเวลาเดียวกันจะต้องเร่งจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดเข็มที่ 3 ให้ครอบคลุมประชากรในประเทศมากที่สุด
เขายกตัวอย่างสหรัฐฯ ที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามผู้เดินทางจากประเทศในแถบแอฟริกาใต้ 8 ประเทศ เข้าประเทศ ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคมนี้ เนื่องจากทางการเข้าใจรูปแบบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์และประชาชนได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 มากเพียงพอ
ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกประกาศประธานาธิบดี ยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทางดังกล่าวแล้ว
ส่วนนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยเห็นว่าการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลงทะเบียนเดินทางเข้าประเทศอีกรอบนั้นควรพิจารณาจากสถานการณ์ก่อนและหลังปีใหม่ “หากเราสามารถทำให้มันกลายเป็นเชื้อประจำถิ่น ค่อย ๆ เพิ่มมาแทนเดลตา พัฒนาวิธีตรวจจับ เตรียมศักยภาพดูแลรักษา แล้วมาตกลงกันว่าแค่ไหนเราจะรับไหว ทั้งคนในประเทศตัวเอง และชาวต่างชาติ เพราะหากเปิดให้เข้ามาก็จะต้องมีเคสเพิ่มขึ้นแน่ หากภาคการแพทย์รู้สึกว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ภาคอื่น ๆ ก็คงเดินไปด้วยกันได้”