นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ร่วมการประชุมในนครเจนีวา ของสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ท่ามกลางความกังวลว่ารัสเซียอาจเข้ารุกรานยูเครนได้ทุกขณะ
นายบลิงเคน กล่าวเปิดการประชุมว่า “นี่คือช่วงวิกฤต” อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สหรัฐฯ และรัสเซีย “ไม่คาดหวังที่จะแก้ปัญหาความแตกต่างของเราได้ในวันนี้” แต่หวังว่านี่จะเป็นการทดสอบเพื่อหาว่ายังมีทางเลือกทางการทูตใดบ้างที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์นี้ได้
ความวิตกกังวลครั้งล่าสุดมีขึ้น หลังจากเมื่อ 7 ปีก่อน ได้เกิดวิกฤตการณ์ไครเมีย ซึ่งรัสเซียได้ผนวกดินแดนในคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นของตนเอง อีกทั้งยังสนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนให้รบกับรัฐบาลยูเครนเป็นพื้นที่วงกว้างทางภาคตะวันออกของประเทศ
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หน่วยข่าวกรองชาติตะวันตกเชื่อว่า รัสเซียได้เสริมกำลังทหารบริเวณชายแดนรัสเซีย-ยูเครน มากถึง 100,000 นาย จึงทำให้เกิดความกังวลว่ารัสเซียอาจจะบุกยูเครนได้ทุกเมื่อ ซึ่งสงครามที่อาจเกิดขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะขยายวงเข้าไปในยุโรป
หากเกิดสงครามจริงจะเป็นอย่างไร
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยข่าวกรองชาติตะวันตกที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัว ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ซึ่งรวมถึงบีบีซีว่า หากรัสเซีย ตัดสินใจจะรุกรานยูเครน การสู้รบก็อาจแผ่ขยายเข้าไปในยุโรปได้
เขากล่าวว่า หากรัสเซียเริ่มกระทำการใด ๆ ก็จะนำไปสู่การตอบโต้จากชาติสมาชิกนาโต “การคิดว่าสงครามจะจำกัดอยู่ในประเทศเดียว คงเป็นเรื่องที่โง่เขลา”
พลเรือเอก เซอร์ โทนี แรดดากิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สถานการณ์เลวร้ายที่สุดของการรุกรานเต็มรูปแบบคงจะรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2″
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยข่าวกรอง ระบุต่อว่า หากรัสเซียเปิดสงครามกับยูเครนจริง ก็จะทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องเสียชีวิต หรืออพยพหนีภัยการสู้รบ
โดยการสู้รบที่ปะทุขึ้นทางภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อปี 2014 ได้ทำให้พลเรือนต้องเสียชีวิตไปแล้ว 14,000 คน และพลัดถิ่นฐานอีกราว 1.4 ล้านคน
นอกจากนี้ รัสเซียยังอาจตอบโต้ชาติสมาชิกนาโตอื่น ๆ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ และการทำสงครามผสมผสาน หรือแม้แต่การโจมตีทางกายภาพ และความขัดแย้งนี้ก็จะแผ่ขยายเป็นวงกว้าง