
สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยกลับมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลเรื่องราคาน้ำมันแพงอีกครั้งหลังจากข้อเรียกร้องให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 25 บาท ที่ยื่นต่อกระทรวงพลังงานเมื่อ 2 เดือนที่แล้วไม่ได้รับการตอบสนอง
“เวลาที่เราให้กับรัฐบาลหมดแล้ว” นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์ฯ ประกาศเมื่อวันที่ 4 ก.พ. หลังที่ประชุมสหพันธ์ฯ มีมติให้สมาชิกเคลื่อนขบวนรถขนส่งสินค้าทั้งรถกระบะและรถบรรทุกมากดดันที่กระทรวงพลังงานในวันที่ 8 ก.พ. ภายใต้ชื่อกิจกรรม “Truck Power Final Season”
นายอภิชาติกล่าวว่าเหตุที่เรียกว่าเป็น “final season” เพราะหลังจากจัดกิจกรรมพลังรถบรรทุกมา 2 ครั้งหรือ 2 “ซีซั่น” ในปี 2564 การเคลื่อนไหวในวันที่ 8 ก.พ. นี้ จะเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ คือ เพื่อสะท้อนความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ และให้ข้อมูลต่อสาธารณะถึงความล้มเหลวในการจัดการเรื่องราคาเชื้อเพลิงของรัฐบาล ทั้งการตรึงราคา การเก็บภาษีสรรพสามิต โดยพุ่งเป้าไปที่การทำงานของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่นายอภิชาติวิจารณ์ว่าไม่ดูแลประชาชนและบ่ายเบี่ยงที่จะแก้ปัญหา
“ที่ผ่านมาเราได้ชะลอการเคลื่อนไหวเพื่อเจรจากับกระทรวงพลังงาน แต่สุดท้ายการเจรจาก็คว้าน้ำเหลว เราจึงจำเป็นต้องออกมาพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของเรา…ถ้าสุดท้ายแล้วรัฐบาลยังมองข้ามเราอยู่ เราก็จำเป็นต้องประกาศขึ้นราคาค่าขนส่ง ถึงตอนนั้นถ้าประชาชน และผู้บริโภคเดือดร้อนขึ้นมา ก็จะเป็นภาระของรัฐบาลเอง”ประธานสหพันธ์ฯ ระบุว่าผู้ประกอบการขนส่งต้องแบกรับภาวะขาดทุนมาเป็นแรมปี แต่ก็พยายามยื้อไม่ขึ้นราคาค่าขนส่งเพราะตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาเป็นลูกโซ่
“แต่เมื่อรัฐบาลไม่ช่วยเหลือ ไม่อุดหนุน ไม่เหลียวแลอะไรเลย เราก็จำเป็นต้องโยนภาระนี้ให้รัฐบาลไปแก้ไขแล้ว…ถ้าเราขึ้นค่าขนส่ง แล้วราคาสินค้าขึ้น รัฐบาลก็ต้องไปดูแลกันเอง” นายอภิชาติกล่าวในการแถลงข่าวผ่านเพจเฟซบุ๊กของสหพันธ์ฯ
สหพันธ์ฯ ประกาศว่าจะเคลื่อนไหวต่อเนื่องกัน 2 วัน คือวันนี้ (7 ก.พ.) และวันพรุ่งนี้ โดยเดิมทีวันนี้ผู้ประกอบการขนส่งที่ใช้รถกระบะรวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงรวมตัวกันที่สถานีกลางบางซื่อก่อนจะเคลื่อนขบวนไปตามถนนสายหลักทั่วกรุงเทพฯ ส่วนวันพรุ่งนี้ ขบวนรถบรรทุก ซึ่งนายอภิชาติคาดว่าจะมีจำนวน “หลักพัน” จะเดินทางมาจอดที่กระทรวงพลังงาน ถ.วิภาวดีรังสิต
แต่ล่าสุด กลุ่ม “คนรักสิบล้อ” เครือข่ายของสหพันธ์ฯ ซึ่งเป็นผู้นัดหมายรวมพลที่สถานีบางซื่อในวันนี้ ได้ประกาศยกเลิกกิจกรรม เนื่องจากเกรงว่าผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบ โดยจะเหลือเพียงการชุมนุมที่กระทรวงพลังงานในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ.)
นายกฯ บอกช่วยเต็มที่แล้ว
การเคลื่อนไหวยกล่าสุดของสหพันธ์ฯ ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ออกมาชี้แจงว่า รัฐบาลได้ใช้ทุกวิธีการแล้วที่จะไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลสูงเกินไปในระดับที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางต่อผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงผู้บริโภค แต่การแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงต้องคำนึงถึงงบประมาณของรัฐบาลและสถานการณ์น้ำมันโลกด้วย อีกทั้งรัฐบาลจะต้องดูแลคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการขนส่ง
“ในเมื่อต้นทุนราคาน้ำมันเป็นเช่นนี้ รัฐบาลก็ใช้ทุกวิธีการ ในการดูแลให้ราคาไม่สูงเกินจนทำให้เกิดความเดือดร้อนมาก…เรามีงบประมาณมากน้อยเพียงใด กลไกต่างประเทศเป็นเช่นไร ต้องเข้าใจ ไม่ใช่เดือดร้อนเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันก็เดือดร้อนทุกคน แต่รัฐบาลทำให้หรือเปล่า ก็ทำให้ไม่ใช่หรือ รัฐบาลก็เอาเงินส่วนรวมมาดูแลทุกกลุ่ม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงพลังงานได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยเหลือประชาชนด้วยการตรึงราคาค่าการตลาดและราคาดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไม่ตรึงราคาไว้ ราคาขายดีเซลอาจจะสูงถึง 34 บาท/ลิตร

“ที่สำคัญ นายกฯ เน้นดำเนินนโยบายต้องไม่บิดเบือนกลไกตลาด หรือสร้างภาระงบประมาณในอนาคต” โฆษกรัฐบาลกล่าว
สำหรับข้อมูลที่สหพันธ์ฯ อ้างว่าคนไทยซื้อน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านนั้น นายธนกรกล่าวว่า ราคาน้ำมันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งคุณภาพและประเภท ขณะนี้ราคาดีเซลในประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เกิน 30 บาท/ลิตร ยกเว้นมาเลเซียที่ผลิตน้ำมันได้เกินความต้องการในประเทศ
เปรียบเทียบราคาน้ำมันดีเซลไทย-เพื่อนบ้าน
ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานระบุว่าราคาน้ำมันดีเซลวันนี้ (7 ก.พ.) อยู่ที่ระหว่าง 29.94-30.74 บาท/ลิตร แตกต่างกันไปตามสถานบริการน้ำมัน
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานยังได้เผยแพร่ข้อมูลราคาน้ำมันดีเซลในไทยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 2565 ราคาขายน้ำมันดีเซลของไทยสูงเป็นอันดับ 6 รองจากสิงคโปร์ ลาว ฟิลิปปินส์ เมียนมาและกัมพูชา ส่วนอีก 4 ประเทศที่น้ำมันดีเซลราคาถูกกว่าไทย คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียและบรูไน
กระทรวงพลังงานระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาขายน้ำมันแต่ละประเทศแตกต่างกัน คือ มาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน
