การเสียชีวิตของ น.ส. นิดา พัชรวีระพงศ์ หรือ “แตงโม” นักแสดงสาววัย 37 ปี ที่พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ตกลางแม่นำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นกรณีที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมไทยและสื่อมวลชนอย่างล้นหลาม แม้หลายคนยังมีคำถามและข้อสงสัยอยู่มากมาย ทว่าในสายตาของผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและวัฒนธรรมไทย สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “คดีแตงโม” กลับมีความชัดเจนที่น่าสนใจ

บีบีซีไทยชวน ดร.เรเชล แฮร์ริสัน ศาสตรจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษา วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา หรือ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน และ ศ.ยาสุฮิโตะ อาซามิ แห่งภาควิชาการเมืองโลก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเซ ในญี่ปุ่น มาหามุมมองต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในไทย ทั้งความสนใจของสังคม ของสื่อมวลชน ความเกี่ยวข้องของคนหลากวงการ และคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย

โลกที่มีโซเชียลมีเดีย

อาจารย์ทั้งสอง ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คดีของแตงโมเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติเช่นนี้มีส่วนสำคัญมาจากโซเชียลมีเดีย

ดร.แฮร์ริสัน ผู้ใช้ภาพยนตร์ไทยเป็นสื่อการสอนนักศึกษา ยกตัวอย่างการเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา นักแสดงชายชื่อดังที่เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 36 ปี เมื่อปี 2513 ว่าสมัยนั้นประชาชนและสื่อมวลชนก็ให้ความสนใจเช่นเดียวกัน ทว่าเนื่องจากไม่ได้มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จึงไม่ได้มีพื้นที่พูดคุยเพื่อทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นกระแสเท่าปัจจุบัน

ฝั่ง ศ.อาซามิ ยกตัวอย่างในกรณี โอ.เจ. ซิมป์สัน นักอเมริกันฟุตบอลผิวดำชาวอเมริกันที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฆาตกรรมอดีตภรรยา นิโคล ซิมป์สัน และ โรนัลด์ โกลด์แมน เพื่อนของเธอ ก็ทำให้สังคมสหรัฐฯ ช่วงนั้นหันมาให้ความสนใจอย่างมาก จนบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นต้องออกมาแถลงให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ทว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียยังมาไม่ถึง “ปรากฏการณ์จึงไม่ยืดยาว” เช่นกรณีของแตงโม

“วัฒนธรรมพันทาง”

ฝั่ง ดร. แฮร์ริสัน ชาวอังกฤษเปรียบเทียบว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้คนสนใจกรณีดังกล่าวเป็นเพราะเรื่องราวประจำวันของคนทั่วไปไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นแต่อย่างใด ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวนักแสดงสาวโดยเฉพาะในประเด็นปริศนาที่แก้ไขไม่ได้กับชีวิตของ “ดาราที่ดึงดูดใจเรา” ทำให้ความสนใจพุ่งไปหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอและการแก้ไขปริศนา

ในความเห็นของ ศ.ประจำภาควิชาไทยศึกษา กรณีเช่นนี้คล้ายคลึงกับพฤติกรรมของชาวอังกฤษที่ชื่นชอบการดูฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ ที่นิยมให้ความเห็นอย่างจริงจังว่านักฟุตบอลรวมไปถึงผู้ฝึกสอนควรเล่นฟุตบอลอย่างไร โดยเธอชี้ว่า “เขาจะมีส่วนร่วม เป็นชีวิตในฝันของเขา เป็นทางหลีกเลี่ยงชีวิตประจำวัน” ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีของแตงโมที่ผู้คนจำนวนหนึ่งใช้เพื่อ “หลีกหนีชีวิตที่น่าเบื่อ”

ปริศนาการเสียชีวิต

แตงโมพลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ตกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อคืนวันที่ 24 ก.พ. โดยหลังจากการค้นหาเป็นเวลา 2 วัน เจ้าหน้าที่ก็พบกับร่างของเธอที่ลอยขึ้นมา บริเวณใกล้กับจุดที่พลัดตกเรือ ห่างจากท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการสอบปากคำบุคคลบนเรือทั้ง 5 คน หลังจากนั้น ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างต่อเนื่อง จากผลการสอบปากคำและการตอบคำถามของบุคคลบนเรือทั้ง 5 คน ที่ดูมีความขัดแย้งกันเอง รวมถึงข้ออ้างสำคัญที่คนบนเรือชี้ว่าแตงโมไปปัสสาวะที่ท้ายเรือ

แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ออกมาให้สัมภาษณ์กับรายการดราม่าวันนี้ว่าจากผลชันสูตรศพรอบใหม่ ไม่พบคราบปัสสาวะตามที่สังคมสงสัยว่าแตงโมไปปัสสาวะที่ท้ายเรือจริงหรือไม่ และ ผลการเอ็กซเรย์ย้ำว่า “แปลไม่ได้ลึกถึงกระดูก ซึ่งเป็นแผลที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิต และ ไม่ได้เกิดจากใบพัดเรือ แต่แผลจะเกิดก่อนตกน้ำ หรือ เกิดแผลระหว่างอยู่ในน้ำ” ยังไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจน

นับจนถึงปัจจุบัน 21 มี.ค. ยังไม่มีการสรุปอย่างชัดเจนว่า แตงโม เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจริงหรือไม่

410 Views