นายบอริส จอห์นสัน ยอมลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เมื่อ 7 ก.ค. หลังถูกสมาชิกพรรคกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เขายังคงจะเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษต่อไปจนว่าจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ในเดือน ต.ค.นี้
ทั้งนี้นายจอห์นสันได้แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่หลายคนทดแทนคนที่ลาออกและถูกปลดออก เช่น นายเกร็ก คลาร์ก ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเคหะและชุมชนแทนนายไมเคิล โกฟ, นายคิต มอลต์เฮาส์ ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีดูแลกิจการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, นายเจมส์ คลีเวอร์ลี ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ คนที่สามของกระทรวงในรอบสามวัน
การลาออกของนายจอห์นสันมีขึ้น 2 วัน หลังจากนายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายริชี สุนัค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลาออกจากตำแหน่ง
ในจดหมายลาออก นายสุนัคและนายจาวิดระบุถึงความน่าเชื่อถือของนายจอห์นสันในฐานะผู้นำ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วันรัฐบาลของนายจอห์นสันเพิ่งเผชิญกับข่าวฉาวล่าสุดเมื่อนายคริส พินเชอร์ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองประธานวิปรัฐบาล ที่คอยดูแลเรื่องระเบียบวินัยของพรรค เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเขาลวนลามชาย 2 คน ที่คลับส่วนบุคคล แต่นายพินเชอร์ปฏิเสธข้อกล่าวหา
ในครั้งแรก ทีมงานของนายจอห์นสันระบุว่าเขาไม่ทราบประเด็นนี้ขณะแต่งตั้งนายพินเชอร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ในเวลาต่อมานายไซมอน แมคโดนัลด์ อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในปี 2015-2020 ออกมาระบุว่า ทีมงานของนายจอห์นสันไม่ได้พูดความจริง
นายแมคโดนัลด์ระบุในจดหมายถึงกรรมาธิการของรัฐสภาว่าด้วยเรื่องมาตรฐานระบุว่า เขาได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายพินเชอร์ตั้งแต่ ก.ค. 2019 ไม่นานหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งในกระทรวง พร้อมกับยืนยันว่านายจอห์นสันได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับข้อร้องเรียนและผลการสอบสวนความผิด ซึ่งนายพินเชอร์ยังได้ออกมาขอโทษต่อการกระทำของตัวเองด้วย
ไม่นานหลังจากนายแมคโดนัลด์ออกมาให้ความเห็น ทีมงานของนายจอห์นสันได้ออกมาปรับเปลี่ยนคำชี้แจงอีกครั้ง โดยอ้างว่านายกรัฐมนตรี ลืมไปว่านายพินเชอร์เคยถูกร้องเรียนอย่างเป็นทางการ และนายจอห์นสันยังให้สัมภาษณ์ก่อนหน้าว่า นายพินเชอร์ควรถูกไล่ออกหลังเหตุการณ์ในปี 2019
ต่อคำถามว่าการแต่งตั้งนายพินเชอร์ให้รับตำแหน่งในรัฐบาลถือเป็นความผิดพลาดหรือไม่ นายจอห์นสันตอบว่า เป็นความผิดพลาด และขอโทษสำหรับเรื่องดังกล่าว คำอธิบายและจุดยืนที่เปลี่ยนไปมาของนายจอห์นสันทำให้คณะรัฐมนตรีไม่พอใจที่ถูกบังคับให้ต้องออกมารับหน้าแทน
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 6 มิ.ย. ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ได้จัดการประชุมเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายจอห์นสัน ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนและสมาชิกรัฐสภาต่อการที่รัฐบาลอังกฤษจัดงานเลี้ยงสังสรรค์หลายครั้งที่บ้านพักนายกรัฐมนตรีในช่วง 2 ปี ของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ผลการลงมติปรากฏว่า ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ 211 คน ลงมติไว้วางใจนายจอห์นสัน ขณะที่สมาชิกอีก 148 คนลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งหากนายจอห์นสันพ่ายแพ้ในการลงมติครั้งนั้น เขาจะต้องลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรค และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนายจอห์นสันจะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครแข่งขันอีก หากเขาเป็นผู้นำที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง
ย้อนช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง
นายแบรนดอน ลูอิส รัฐมนตรีกิจการไอร์แลนด์เหนือ คือรัฐมนตรีคนแรกที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ก่อนรัฐมนตรี 7 ราย ทยอยยื่นหนังสือลาออกตามมา
แม้แต่นางพริที พาเทล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและนายกรานต์ แชปป์ส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนที่ภักดีมาตลอด ยังออกมาเรียกร้องให้นายจอห์นสันลาออกจากตำแหน่งนายกฯ
ในจดหมายของออกของนายลูอิสเมื่อพฤหัสบดีที่ผ่านมา ถ้อยความช่วงหนึ่งระบุว่า “ผมเลือกที่จะเชื่อใจคุณและคนรอบตัวของคุณในช่วงที่ผ่านมา ผมปกป้องรัฐบาลนี้ทั้งต่อหน้าสาธารณชนและในพื้นที่ส่วนตัว ท่วาตอนนี้เราผ่านจุดที่จะย้อนกลับไปได้อีกแล้ว”
เพื่อตอบโต้กับกระแสวิจารณ์ นายจอห์นสันปลด ไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเคหะและชุมชน ออกเมื่อวันพุธที่ผ่านมาซึ่งนับเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความประหลาดใจให้กับหลายคน แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลอธิบายว่านายโกฟคือ “งูเห่า” ผู้ซึ่ง “ให้ข่าวกับสื่อมวลชนอย่างสนุกสนามว่าเขาเรียกร้องในนายกฯ ลาออก”
นายโกฟออกมาเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกในช่วงเช้าของวันนั้น เขาคืออดีตพันธมิตรผู้สนับสนุนแคมเปญเบร็กซิทแต่แล้วก็ทำให้นายจอห์นสันพลาดจากการเป็นผู้นำพรรคในครั้งแรกของความพยายาม
รัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ในรัฐบาลมากกว่า 40 ราย ยื่นหนังสือลาออก เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา สร้างประวัติศาสตร์การยื่นหนังสือลาออกมาที่สุดภายในเวลา 24 ชั่วโมง
แม้แต่ในช่วงเวลาค่ำแล้ว ก็ยังมีการยื่นหนังสือลาออกเช่นเดียวกัน นายไซมอน ฮาร์ท มุขมนตรีของเวลส์ ยื่นหนังสือลาออกในเวลา 23.00 น.
นายฮาร์ทกล่าวว่าเพื่อนร่วมงานทำอย่างถึงที่สุดเพื่อ “ช่วยคุณรักษาเรือลำนี้ไว้ แต่มันเป็นเรื่องเศร้าที่ผมรู้สึกว่าเราผ่านช่วงที่จะรักษามันไว้ได้แล้ว”
ช่วงดึกของวันที่ 6 ก.ค. อัยการสูงสุดอย่างนางซูเอลลา เบรเวอร์แมน เข้าร่วมการเรียกร้องให้นายจอห์นสันลาออก โดยกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวีว่าเขาจัดการกับสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาได้ “น่ากลัว” มาก
เธอย้ำว่าตนเองจะไม่ลาออกเพราะมีหน้าที่ต้องสานต่อ แต่เพิ่มเติมว่า “ถ้ามีการแข่งขันเพื่อหาผู้นำ ฉันจะส่งชื่อตนเองลงสนาม”
นายแมตต์ แฮนค็อก อดีต รมว.สาธารณสุข ชี้ว่าเขา “สนับสนุน[นายจอห์นสัน]ในทุกช่วงเวลา” แต่เห็นด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่นายจอห์นสันต้องลาออก
ทว่าฝั่งที่สนับสนุนนายจอห์นสันยังมีอยู่ แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลชี้ว่า “นายฯ มีหน้าที่ต่อประชาชน 14 ล้านคนที่จะต้องทำงานของเขาให้เสร็จ…ถ้าพรรคต้องการหยุดเขา พวกนั้นก็ต้องมาเอาคำสั่งนั้นออกไป”
บีบีซีได้รับการบอกกล่าวว่านายจอห์นสันมีความกังวลเกี่ยวกับเสียงสนุนนับล้านที่เขาได้รับมาและตั้งข้อสงสัยว่าผู้ที่จะมาแทนจะทำได้แบบเขาหรือไม่
นายจอห์นสันสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการนำพรรคคอนเซอร์เวทีฟชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อ ธ.ค. 2019 โดยกวาดที่นั่งได้ 365 จากทั้งหมด 650 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎร โดยได้ที่นั่งเพิ่มจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2017 จำนวน 47 ที่นั่ง แล้วประกาศเดินหน้านำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2020