วันนี้ (7 ก.ค.) ครบหนึ่งสัปดาห์หลังเกิดเหตุการณ์เครื่องบินรบมิก 29 ของกองทัพเมียนมา รุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าไทยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ตรงข้ามกับพื้นที่สู้รบในฝั่งรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา ทำให้ชาวไทยและชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนต้องหลบหนีภัยอย่างเร่งด่วน

และวันนี้เช่นกันที่คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร จะเรียกผู้บัญชาการทหารอากาศเข้าชี้แจง คณะกรรมาธิการชุดนี้ยังเสนอให้เรียกสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งก่อนหน้านี้ออกมาระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ และเมียนมาได้ขอโทษแล้ว

ถึงขณะนี้เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้รัฐบาลและกองทัพไทยตกเป็นเป้า ถูกวิจารณ์ถึงการบริหารจัดการสถานการณ์ โดยเฉพาะการรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ถูกมองว่าเป็นไปอย่างเชื่องช้า รวมทั้งท่าทีของไทยต่อรัฐบาลทหารเมียนมาหลังเกิดเหตุการณ์แล้ว

เสียงวิจารณ์ยังเกิดขึ้นในหมู่พลเมืองชาวเมียนมา โดยมีผู้แสดงความเห็นในเชิงโกรธเกรี้ยวผ่านโซเชียลมีเดียของบีบีซีแผนกภาษาเมียนมา และตั้งคำถามทางการไทยว่าไม่ได้ใช้ความพยายามเพียงพอที่จะห้ามไม่ให้ ทหารเมียนมาใช้น่านฟ้าไทยในการปฏิบัติการ

ท่าทีของไทยในเรื่องนี้ทำให้ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่าไทยกำลังตกเป็นจำเลยในเวทีระหว่างประเทศที่มองว่า “รัฐบาลที่มีผู้นำเป็นทหาร เปิดโอกาสให้ผู้นำทหารเมียนมาใช้ไทยเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ”

ศ.ดร.สุรชาติ เห็นว่ารัฐบาลไทยต้องสร้างความกระจ่างในหลายประเด็น ตั้งแต่ตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่อยไปจนถึงความสามารถในการคุ้มครองน่านฟ้าไทย การตอบสนองที่ล่าช้าของระบบป้องกันทางอากาศ ซึ่งทำให้มองได้ว่าไทยเปิดช่องให้ทหารเมียนมาปฏิบัติการต่อชนกลุ่มน้อย รวมทั้งความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องจุดยืนประชาธิปไตยของไทย

อย่าอิงกองทัพเมียนมาฝ่ายเดียว

ศ.ดร.สุรชาติ อธิบายว่า กองทัพไทยและเมียนมาเป็นมิตรที่ใกล้ชิดกัน แต่หากมองต่อไปอนาคต รัฐบาลไทยต้องเข้าใจว่า “ไม่มีรัฐบาลทหารไหนที่อยู่ถาวร”

ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อเดือน ก.พ.2021 และตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีการปราบปรามฝ่ายที่เห็นต่างและชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงท่านนี้แนะให้รัฐบาลไทยเรียนรู้จากเมื่อครั้งที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ได้รับเลือกตั้ง นางออง ซาน ซูจี ประธานพรรค ไม่เห็นดีเห็นงามกับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเมียนมาในอดีต เนื่องจากไทยทุ่มความสัมพันธ์ไปกับฝ่ายทหารเป็นหลัก

“นั่นเป็นบทเรียนว่าช่วงที่ผ่านมาเราทุ่มความสัมพันธ์ไว้กับการเมืองแบบฝ่ายเดียว แล้วพอการเมืองในเมียนมาเปลี่ยน เราเหมือนจะกลับตัวไม่ทัน… มันต้องคิดเผื่ออนาคตไว้บ้าง ไม่มีรัฐบาลทหารที่ไหนที่อยู่ถาวร เราได้เห็นปรากฏการณ์โลกอย่างอาหรับสปริง แล้วถ้าวันหนึ่งเราได้เห็นเมียนมาสปริง เห็นรัฐบาลเอ็นยูจี (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ) เกิด แปลว่าเราจะเห็นชนกลุ่มน้อย เห็นคนหนุ่มสาวจับมือกันแน่นเพื่อสร้างประชาธิปไตย แล้วรัฐบาลประชาธิปไตยเกิดในเนปิดอว์ แล้วเราจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับเนปิดอว์ใหม่ยังไง”

นักวิชาการท่านนี้ยังเห็นว่าในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันถึงกว่า 2,000 กม. หากเกิดสถานการณ์ใด ๆ ในเมียนมา ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้

“เป็นไปได้ไหมที่ไทยจะยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศ และออกมาแสดงบทบาทให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ การเปิดพรมแดนให้คนบาดเจ็บเข้ามาหลบภัยสงครามเป็นสิ่งที่ควรทำ”

ขณะที่ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล ยืนยันว่าไทยไม่มีนโยบายให้เมียนมาใช้น่านฟ้าไทยในการปฏิบัติการทางทหาร

“ข้อเท็จจริงคือเราปฏิเสธ เราประท้วง และเราไม่มีนโยบายจะให้ใช้น่านฟ้าหรือแผ่นดินไทย…เข้ามาโดยหลักมนุษยธรรมได้ ก็เข้ามาหลายฝ่ายแล้ว ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารก็เข้ามาที่แม่สอดเยอะ เดินทางไปประเทศที่สามก็เยอะ อย่างนี้จะถือว่าเราช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้หรือไม่” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่า “อาจมีข้อสงสัยได้ว่ามีการขยิบตา มีการรู้กันล่วงหน้าหรือไม่ โดยเฉพาะจากการที่มีผู้นำทางทหารไทยไปเยือนเมียนมาเพียงไม่กี่วันก่อนเกิดเหตุ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของเราหลายประเทศคงมองแบบนั้นได้” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว แต่เห็นว่าคำตอบต่อข้อสงสัยต่าง ๆ เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังตรวจสอบ และต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ

กองทัพอากาศไทยพร้อมปกป้องคนในชาติแค่ไหน

รศ.ดร.ปณิธาน ยอมรับว่าเหตุการณ์เครื่องบินรบรุกล้ำเข้าน่านฟ้าไทยนั้น “ถือเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ ในเหตุการณ์ปกติของการสู้รบทั่วไป ของประเทศเพื่อนบ้าน” และจากการตรวจสอบพบว่า มีการตรวจจับสัญญาณเครื่องบินได้ตั้งแต่เครื่องออกตัวมา เนื่องจากเครื่องบินรบดังกล่าวมีการเปิดระบบระบุตัวตน ซึ่ง เป็นสัญญาณที่บอกว่าไม่ได้มีท่าทีเป็นศัตรู

“ทุกฝ่ายที่ต้องการตรวจสอบมีเป้าประสงค์เดียวกันคือให้คนไทยปลอดภัย ให้ระบบป้องกันประเทศทำงานได้จริง ให้ยุทโธปกรณ์ที่เป็นภาษีอาการของราษฎรมีความคุ้มค่า แต่ในเวลาเดียวกันก็อยากรู้ปัญหาของกองทัพอากาศว่ามีปัญหาอะไร”

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.สุรชาติ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “ผมไม่อยากเห็นคำตอบสุดท้ายจบที่คำตอบว่า รัฐบาลไทยจะมีความพร้อมมมากกว่านี้ถ้าได้ [เครื่องบินรบ] เอฟ-35”

ที่มา.. BBCThai

242 Views