นับถึงเดือน ก.ค. 2565 China Shipbuding & Offshore International Co. Ltd. หรือ CSOC บริษัทต่อเรือของจีนยังไม่สามารถหาเครื่องยนต์ MTU369 จากประเทศเยอรมนี มาติดตั้งในเรือดำน้ำ S26T ให้กองทัพเรือ (ทร.) ไทย ได้ตามข้อตกลง ซึ่ง ทร. ไทยยืนยันว่าจะไม่รับข้อเสนอใช้เครื่องยนต์จีนมาติดตั้งแทน

CSOC มีเวลาถึง 9 ส.ค. ศกนี้ ในการเสนอทางออกใหม่ เมื่อยังไม่ถึงวันนั้นอาจพูดได้ว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ที่รัฐบาลมองว่าเป็นของดีราคาถูกยังเป็นโครงการที่คลุมเครือ

21 มี.ค. 2560 พล.อ. ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ยอมรับถึงข้อตกลงการซื้อเรือดำน้ำแบบซื้อ 2 แถม 1 ตามข้อเสนอของจีน

“กรณีนี้รู้สึกว่าราคาจะถูกที่สุด และคุณภาพใช้ได้ มีการบริการต่าง ๆ ทั้งระบบอาวุธ ระบบการซ่อม อะไหล่ต่าง ๆ การช่วยสนับสนุน ก่อสร้างโรงเก็บเรือ ที่เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมขึ้นมา และโครงการนี้เป็นโครงการรัฐต่อรัฐ ซึ่งผมได้สอบถาม พล.อ. ประวิตร ท่านยินดีให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบแล้ว และที่ผ่านมา สตง. ก็ตรวจสอบมาตลอด เรื่องการซื้ออาวุธของกองทัพ สมัยผมเป็น ผบ.ทบ. ผู้ตรวจเงินแผนดิน ก็เข้าไปตรวจสอบ มีข้อสังเกตให้ทางกองทัพก็รับข้อสังเกตมาพร้อมชี้แจงตามข้อเท็จจริง เมื่อรับได้เขาก็ให้หน่วยงานดำเนินการต่อ ไม่ใช่ว่าเป็นรัฐบาลนี้แล้วไม่ตรวจสอบ เขาตรวจสอบทุกโครงการ” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

1 พ.ค. 2560 พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ (ยศขณะนั้น).และประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้แทน ผบ.ทร. ไปลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยแถลงข่าวบนเรือหลวงจักรีนฤเบศร์ ยืนยันเรือดำน้ำจีนทั้งคุ้มค่า มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือ

เปลี่ยนขั้วโยกย้าย ทร.-เกมพลิก

นับแต่เริ่มจัดหาเรือดำน้ำจีน ผู้ที่ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับผู้นำทางทหารของจีนในยุคนั้น และมีอิทธิพลสูงในการผลักดันให้โครงการเดินหน้าได้อย่างไร้รอยต่อ คือ “บิ๊กป้อม”พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมถึง พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเรือดำน้ำ ที่มีความมุ่งมั่นเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำให้เป็นรูปธรรม ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาธิการ จนขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ

แต่ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “เอียงจีน” และผูกติดกับยุทโธปกรณ์อีกหลายโครงการที่ต่อเนื่องกับการซื้อเรือดำน้ำ S26T เช่นการจัดหาเรือจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบก (Landing Platform Dock :LPD) จากจีน ที่ใช้งบประมาณกว่า 6,100 ล้านบาท ที่ถูกเอ่ยอ้างว่าจะเป็น”เรือพี่เลี้ยง”ให้กับเรือดำน้ำ ซึ่งใกล้จะมีการส่งมอบในไม่ช้านี้

แม้ฝ่ายจีนได้เจรจากับเยอรมนี แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถนำใบสั่งซื้อเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าวส่งมาให้ ทร. ไทยเพื่อดำเนินขั้นตอนเบิกจ่ายงบประมาณปี 2565 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. นี้

จนกระทั่ง 9 มิ.ย. 2565 ได้มีการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่าง กองทัพเรือ กับ บริษัท CSOS โดยมี พล.ร.อ. เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นประธานฝ่ายไทย และ Mr. Liu Song รองประธาน CSOC เป็นประธานฝ่ายจีน

CSOC แจ้งว่าได้ใช้ความพยายามในการเจรจา กับบริษัท MTU สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทั้งในระดับ บริษัท-บริษัท รัฐบาล-รัฐบาล และ ช่องทางทางการทูต ในการจัดหาเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงได้ จึงได้เสนอ เครื่องยนต์รุ่น CHD 620 ให้กองทัพเรือพิจารณาแทน แต่กองทัพเรือได้แจ้งยืนยันความต้องการใช้ เครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า MTU 396 ตามข้อตกลงเดิม เนื่องจากเครื่องยนต์ CHD620 ที่ บริษัท CSOC เสนอไม่เคยมีการใช้งานในเรือดำน้ำของประเทศใดมาก่อน พร้อมขอให้ทางบริษัท จัดทำข้อเสนอแนวทาง ระยะเวลา และแผนงานการดำเนินการแก้ไขปัญหา ตลอดจนกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบเรือดำน้ำให้ กองทัพเรือ พิจารณา ภายใน 60 วัน (ภายใน 9 สิงหาคม 2565)

ความหวังที่เรือดำน้ำรุ่นดังกล่าวจะติดตั้งเครื่องยนต์ MTU396 และส่งมอบให้ไทยเข้าประจำการในปี 2567 ยิ่งเลือนรางลงไปทุกที กลายเป็นอาถรรพ์ของโครงการนี้ที่ไปได้ไม่สุดทางในทุกรัฐบาล

อ่านเพิ่ม BBCThai

 

287 Views