กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานเมื่อเวลา 00.07 น. วันที่ 22 ก.ค. 2565 เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ขนาด 6.4 ลึก 1.8 ไมล์ ศูนย์กลางห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย 55 ไมล์ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดของภาคเหนือ และเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกอย่างน้อย 45 ครั้ง

แผ่นดินไหวระลอกนี้ มีครั้งหลัก ๆ 3 ครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงที่สุด คือ ขนาด 6.4 ลึก 1.8 ไมล์ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนอ จ.เชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา

คลิปวิดีโอจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อบัญชีว่า @fonplaifonn โพสต์วิดีโอเมื่อเวลา 00.28 น. เป็นภาพของกลุ่มนักศึกษาที่พักอยู่ในหอในของหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ต่างลงมาจากอาคารหอพักรวมตัวที่ลานด้านนอก หลังจากเกิดแผ่นดินไหวจนสามารถรับรู้แรงสั่นสะทือนได้ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ

สื่อสังคมออนไลน์ของเชียงตุงโพสต์ข้อความว่า “มีชาวบ้านหลายคนในเชียงตุงบอกว่า บ้านเรือนสั่นไหวแรงมาก เหมือนบ้านจะถล่ม ตั้งแต่เกิดมาพึ่งเคยเจอ หลายคนอยู่ในบ้านไม่ได้ ต้องวิ่งออกมานอกบ้าน และทั้งคืนไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะมีอาฟเตอร์ช็อกแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายสิบครั้ง”

ข้อมูลจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ระบุด้วยว่า ยังมีระลอกของอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 5.22 น. วันนี้ (22 ก.ค.) มีขนาด 5.3 รุนแรงรองจากแผ่นดินไหวเมื่อ เวลา 00.07 น.

อย่างไรก็ตาม กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวระบุด้วยว่า ระหว่างวันที่ 21-22 ก.ค. 2565 เวลา 6.00 น. เกิดแผ่นดินไหวบริเวณประเทศเมียนมาจำนวน 52 ครั้ง เป็นขนาด 5-6.9 รวม 3 ครั้ง ได้แก่

23.40 น. (21 ก.ค.) ขนาด 5.1 ลึก 4 กม. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 55 ไมล์.

00.07 น. (22 ก.ค.) ขนาด 6.4 ลึก 3 กม. ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 54 ไมล์.

5.22 น. (22 ก.ค.) ขนาด 5.3 ลึก 4 กม. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 52 ไมล์

สำหรับผลกระทบในประเทศไทย ประชาชนใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง และลำพูน สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน บางส่วนรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งที่เกิดก่อนเวลาเที่ยงคืนที่ผ่านมา โดยมีประชาชนเข้ามาcแจ้งข้อมูลรู้สึกสั่นไหวต่อโซเชียลมีเดียของกรมอุตุนิยมวิทยา หลายพื้นที่

“บ้านจ้อง อำเภอแม่สาย เชียงราย รอบนี้ไหวแรงมาก บ้านโยกทั้งหลัง หน้าต่างกระจกสั่นไหว โต๊ะโยก ได้ยินเสียงอาคารลั่นชัดเจน ไหวนาน เดินมีเซ” ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Jesada Kumkrue

“แม่อาย เชียงใหม่ ไหวแรงมากเลย นานเกือบ 1 นาที ตอนแรกนึกว่าตัวเองเป็นโรคบ้านหมุน แต่เหลือบมามองขวดน้ำเท่านั้นเลยทราบว่าคือแผ่นดินไหว ขวดน้ำที่ตั้งบนพื้นไม่เรียบ โยกไปมาได้ เกือบล้ม แต่ยังไม่ล้ม” ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Sacrifice Creed

“ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา อาคารชั้น 3 รู้สึกได้ถึงแรงสั่นไหว” ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Chakkraphong Khonthun


สาเหตุของแผ่นดินไหว

รายงานสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยประจำวันของกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า เหุตแผ่นดินไหวบนบกขนาด 6.4 ที่มีแผ่นดินไหวนำ (Foreshocks) และแผ่นดินไหวตาม (Aftershocks) หลายสิบครั้ง มีสาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อน Wan Ha มีการเลื่อนตัวในแนวระนาบเหลื่อมซ้าย มีแนวการวางตัวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ แผ่นดินไหวครั้งนี้มีรายงานการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน และอุดรธานี

เข้าใจแผ่นดินไหวในเมียนมา ประเทศที่มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทุก ๆ 30 ปี

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหว หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า หากย้อนไปในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงตุงเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2554 หรือกว่า 11 ปีที่แล้ว ที่เกิดผลกระทบกับไทยเช่นกัน คือบริเวณเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหวช่วงคืนที่ผ่านมา แต่ครั้งนั้นเป็นขนาด 6.8 ซึ่งแรงกว่าครั้งนี้ โดย 1 หน่วย ที่ต่างกัน เช่น 6 กับ 7 พลังงานต่างกัน 30 กว่าเท่า เพราะฉะนั้น ครั้งนี้ 6.4 กับ 6.8 ก็ต่างกันพอสมควร

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า ที่น่าสนใจ คือ ผ่านมา 11 ปี เมียนมามีรอยเลื่อนที่ค่อนข้าง “แอคทีฟ” หรือมีพลังมากกว่าประเทศไทยและมีขนาดที่ใหญ่กว่าอย่างชัดเจน ฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ในเมียนมาจะมีการสั่นไหวอยู่เรื่อย ๆ ต่างจากพื้นที่ประเทศไทยที่รอบการเกิดแผ่นดินไหวจะยาวนานกว่า เพราะอยู่ห่างออกมาจากเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งแผ่นดินไหวในบริเวณนี้เป็นปฏิกิริยาจากการเคลื่อนตัวบริเวณเทือกเขาหิมาลัยทั้งสิ้น

“ตามสถิติ เมียนมาจะมีแผ่นดินไหว แรง ๆ ที่หนักกว่านี้ด้วย ทุก ๆ ประมาณ 30 ปี แต่ละประเทศจะมีรอยเลื่อนที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าไปตั้งอยู่ในรอยเลื่อนที่มีลักษณะแบบไหน แต่ว่าเมียนมาทั้งประเทศ ทุก ๆ ประมาณ 30 ปี จะเจอหนัก ๆ ประมาณขนาด 7 ขึ้นไปจนถึง ขนาด 8 แต่บ้านเราไม่มี 8”

ควรกังวลหรือไม่

แล้วแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในเมียนมา ห่างจากไทยไม่ถึง 100 กม. ส่งผลอย่างไรต่อไทย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหว หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า ในแง่ที่จะกระทบกับรอยเลื่อนแผ่นดินไหวในไทยนั้น จากหลักฐานที่นักวิชาการในแวดวงนี้ศึกษาพบว่าไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น แต่เรื่องที่ควรกังวลมากกว่า คือ เรื่องมาตรฐานการก่อสร้าง

“นักวิชาการพูดตรงกันรอยเลื่อนหนึ่งไม่มีโอกาสที่จะทำให้อีกรอยเลื่อนหนึ่งขยับ มันไม่เหมือนการ์ตูน แผ่นดินมันใหญ่มาก ไม่ใช่ตรงนี้แตกแล้วตรงนี้ขยับตาม ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน”

รศ.ดร. สุทธิศักดิ์บอกว่า ในความเป็นจริงแล้วแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่จัดการง่าย เพียงแต่ขอให้รู้ข้อมูลว่าตรงนั้นขนาดของแผ่นดินไหวสูงสุดเท่าไหร่ แล้วตัวอาคารสิ่งก่อสร้างต้องก่อสร้างให้ปลอดภัย

“ปัญหามันอยู่ตรงที่คนไม่คิดว่ามันจะไม่เกิด ตอนแม่สาย มีเสียหายบ้าง แต่ไม่เยอะ” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหว กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2554 หรือกว่า 11 ปีที่แล้วที่กระทบกับ จ.เชียงราย

นักวิชาการรายนี้บอกว่า ความแตกต่างชัดเจนอย่างมากระหว่างเมียนมากับไทย คือ มาตรฐานการก่อสร้างอาคาร

ในเมียนมาการก่อสร้างยังใช้อิฐ ผนังอิฐโบราณมาก แต่ในไทย การออกแบบบ้านอาคารถูกบังคับโดยกฎหมายควบคุมอาคาร ตั้งแต่อาคารที่ใหญ่สูง อาคารสาธารณะ ต้องสร้างตามกฎหมายที่ออกแบบไว้ให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ดังนั้น สังเกตว่าไม่ค่อยมีผลกระทบมากเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ก็ประมาทไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายควบคุมอาคาร ไม่ได้คุมไปถึงอาคารบ้านเรือนประชาชนแบบ 1-2 ชั้น ซึ่งกฎหมายพยายามควบคุมไปให้ถึง บ้านเรือนในพื้นที่อันตรายภาคเหนือที่ติดกับเมียนมา แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะยังมีอีกมิติในเชิงพื้นที่ว่าเจ้าของจะเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่าย

การรับรู้การสั่นสะเทือน VS การได้รับความเสียหายจากการสั่นสะเทือน

รศ.ดร. สุทธิศักดิ์บอกว่า แผ่นดินไหวในเมียนมาขนาดที่แรงกว่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นภัยพิบัติที่คาดการณ์ไม่ได้ แต่ที่คาดการณ์ได้ หากเกิดแผ่นดินไหวตัวหลัก อย่างเมื่อคืนขนาด 6.4 มีอาฟเตอร์ช็อกตามมากี่ลูกและขนาดเท่าใด สามารถคาดการณ์ได้หมด แต่เราไม่สามารถการันตีว่า จะมีแผ่นดินไหวหลักหรือ Mainshock อีกหรือไม่ เช่น แผ่นดินใหญ่ที่ญี่ปุ่นเมื่อกี่ปีที่ผ่านมา มีแผ่นดินไหวหลัก 2 ครั้งในช่วงเวลาใก้ลเคียงกัน

รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ อธิบายถึงระยะทางจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวกับประเทศไทย มีผลต่อความเสียหายและแรงสั่นสะเทือนที่ต่างกัน ครั้งเมื่อปี 2554 ที่บริเวณท่าเร่ของเชียงตุง เป็นรอยเลื่อนเดียวกันกับครั้งนี้ แต่ห่างจาก อ.แม่สาย เป็นระยะทางที่สั้นกว่าคืนวันที่ 22 ก.ค. 2565

โดยทั่วไปแล้ว แผ่นดินไหวจะมีผลกระทบแรง ๆ อยู่ในช่วงประมาณ 30-40 กม. จากจุดศูนย์กลาง ซึ่งการรับรู้การสั่นสะเทือนกับการได้รับความเสียหายจากการสั่นสะเทือน เป็นคนละเรื่องกัน รวมทั้งประเด็นความลึกของจุดศูนย์กลาง อย่างความลึก 3 กม. ถือว่าตื้นมา ทำให้แผ่นดินไหวคืนที่ผ่านมามีความแรง

“การรับรู้แผ่นดินไหวแรง ๆ ที่เมียนมา ตึกใน กทม. ก็โยก คนในกรุงเทพฯ ก็กลัววิ่งกันมา 30-40 ปี แต่ถามว่า เราได้รับความเสียหาย เสียชีวิตไหม มันก็ไม่ใช่”

“แต่ถ้าเกิดคุุณอยู่ในพื้นที่ 30 กม. 40 กม. จากจุดศูนย์กลางอันนี้น่ากังวล อย่างเมื่อคืนพอเห็นตัวเลข 80 กม. เราก็ไม่กังวลแล้ว…ไกล เป็นเรื่องปกติครับที่เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เขาจะสั่นนะครับ” รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ทิ้งท้าย

 

470 Views