คนการเมืองร่วมงาน 46 ปี 6 ตุลา คึกคัก ไร้เงาฝ่ายรัฐบาล ด้าน “อนุสรณ์ อุณโณ” ชี้ นิสิต นศ. ยังไม่ตายจากสมรภูมิ เชื่อ ยังมีความหวังขับเคลื่อนต่อได้
วันนี้ (6 ต.ค. 65) งาน 46 ปี 6 ตุลา ตามหา(อ)ยุติธรรม จัดพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 19 รูป ยืนไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์ และพิธีวางดอกไม้รำลึกถึงวีรชน ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ต่อด้วยการกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “ฆ่า” อย่างไรก็ไม่ตาย คนรุ่นใหม่ในความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัยโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งมีการมอบรางวัล “ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย ประจำปี 2565“
เมื่อเวลา 07.30 น. เครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 6 ตุลา จัดงานรำลึก 46 ปี 6 ตุลา ตามหา(อ)ยุติธรรม โดยช่วงเช้าเป็นพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 19 รูป จากนั้น เป็นพิธีสดุดีวีรชน 6 ตุลา โดยมีการอ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก่อนจะมีการวางดอกไม้ จากตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพรรคการเมืองจากพรรคฝ่ายค้าน องค์กร และเครือข่ายภาคประชาสังคม อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า นายสมหมาย บุญเฮง กรรมการบริหารพรรคเสรีรวมไทย ร้อยเอก จารุพล เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อชาติ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย นายกัณวีร์ สืบแสง รองหัวหน้าและประธานยุทธศาสตร์พรรคเป็นธรรม นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น และแกนนำจากกลุ่มราษฏร นางสาวณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ และนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง สมัชชาคนจน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ญาติวีรชน 6 ตุลามูลนิธิและ สถาบัน ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
ต่อมา เวลา 09.20 น. นายอนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ภาพจำของเหตุการณ์ 6 ตุลา คือ ภาพการสังหารนิสิต นักศึกษา อย่างโหดร้ายผิดมนุษย์ และสร้างความทรงจำร่วมให้สังคมไทยว่า ในเวลาหนึ่งนิสิต นักศึกษา เคยเป็นหัวขบวนในการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย วันนี้ผ่านมา 4 ทศวรรษ นิสิต นักศึกษา กลับมาเป็นหัวขบวนทางการเมืองอีกครั้ง
ถือเป็นการสร้างความหวังให้ฝ่ายที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่อีกด้านการกลับมาของนิสิต นักศึกษา สร้างความหวาดวิตกให้ฝ่ายผู้ปกครอง ที่สำคัญเป็นครั้งแรกที่การเคลื่อนไหวมีข้อเสนอโดยตรงต่อผู้ปกครองของประเทศนี้ แต่การใช้มาตรการรุนแรงกับการชุมนุม และการตั้งข้อหาผู้ชุมนุมกว่า 1,800 ราย ส่งผลให้ผู้ต้องการความเปลี่ยนแปลงบางส่วนท้อแท้สิ้นหวัง
ขณะที่อีกฝ่ายลำพองใจว่านิสิต นักศึกษา คงสร้างความระคายเคืองได้เท่านี้ แต่ก็อาจจะเร็วเกินไปที่เราจะสิ้นหวังหรือลำพองใจ เพราะเยาวชนหนุ่มสาวยังไม่หายไปไหน ยังไม่ตายไปจากสมรภูมิการเมืองไทย สาเหตุเพราะการที่เขาลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวไม่ได้เกิดจากการชี้นำของใคร เขายังจะยังเป็นพลังท้าทายผู้ปกครองจนทุกวันนี้ ด้วยยังมีเงื่อนไขจากความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะล่าสุดจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายกฯ ยังอยู่ในตำแหน่ง เป็นการตอกย้ำว่าลำพังกลไกรัฐสภา และองค์กรอิสระ ไม่สามารถทำให้ผู้มีอำนาจเหล่านี้หลุดลอดออกไปได้ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องขับเคลื่อนต่อไป
จากนั้นเวลา 10.00 น. ได้มีการประกาศรางวัล “ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย ประจำปี 2565“ ซึ่งในปีนี้ วาฤทธิ์ สมน้อย เด็กชายวัย 15 ปี ที่เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 และถูกยิงบริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลดินแดง จนทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมาเป็นผู้ได้รับรางวัล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการมารับรางวัลในครั้งนี้ที่จริงต้องเป็นพ่อแม่ของน้องวาฤทธิ์ที่มารับรางวัลแต่เนื่องจากทั้งสองท่าน นั้นเกิดอาการป่วยจึงทำให้ไม่สามารถมารับรางวัลได้ ดังนั้นวันนี้นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ จึงเป็นผู้รับแทน