พรุ่งนี้ (13 กรกฎาคม 2566) จะเป็นหนึ่งในอีกวันที่สำคัญสำหรับการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 2566 คือ เป็นวันที่รัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) ชุดพิเศษ จะร่วมกันยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 อย่างไรก็ดี แม้โดยหลักแล้ว ตามระบบรัฐสภา ประชาชนจะเลือก ส.ส. เพื่อให้ ส.ส. ไปเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 กลับกำหนดบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้ระหว่างห้าปีแรกของรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องทำใน “ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” ซึ่งหมายความว่า ส.ว. ชุดพิเศษ ที่มาจากการแต่งตั้ง จะมีอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
โดยผู้ที่ได้รับเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี กล่าวคือ หากมี ส.ส. ครบเต็มสภา 500 คน และ ส.ว. 250 คน รวม 750 คน ก็จะต้องได้รับเสียงเห็นด้วย 376 เสียงขึ้นไป จึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ช่วงหลังเลือกตั้งจนถึงช่วงก่อนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีส.ส. บางรายที่ลาออกและต้องคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา ซึ่งอาจส่งผลต่อจำนวน “สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่” ที่จะลดลง เมื่อจำนวนสมาชิกลดลง ก็จะส่งผลต่อเนื่องไปว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอาจจะไม่ต้องใช้เสียงเห็นด้วยกับผู้ได้รับเสนอชื่อถึง 376 เสียง อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ก็เป็นที่ยุติแล้ว เมื่อ 11 กรกฎาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เลื่อนผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นมาแทนที่ และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อช่วงเช้านี้ (12 กรกฎาคม 2566) ส.ส. บัญชีรายชื่อจากสามพรรคการเมืองที่ได้เลื่อนลำดับขึ้นมา ก็เข้าปฏิญาณตนต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ดังนี้
๐ พรรคก้าวไกล : สุเทพ อู่อ้น ก้าวไกล เลื่อนมาแทน > ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ (ต้องคำพิพากษา คดีเมาแล้วขับ)
๐ พรรครวมไทยสร้างชาติ : อนุชา บูรพชัยศรี เลื่อนมาแทน > พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค (ลาออก)
๐ พรรคไทยสร้างไทย : ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลื่อนมาแทน > สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (ลาออก)
ทำให้วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 หนึ่งวันก่อนเลือกนายกรัฐมนตรี มีส.ส. ครบเต็มสภา 500 คน ประกอบกับ ส.ว. อีก 250 คน การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จึงต้องการเสียง 376 เสียงขึ้นไป
อย่างไรก็ดี การที่สมาชิกรัฐสภา ไม่ว่าจะ ส.ส. หรือส.ว. ไม่ได้เข้าร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือลาประชุม “ไม่ส่งผล” ต่อจำนวนเสียงข้างมากเด็ดขาดที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพราะการวัดผลลงมติผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี วัดจากเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ “จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่” ของทั้งสองสภา สมาชิกที่มีอยู่ หมายถึง สมาชิกที่ยังมีสถานะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. อยู่ ไม่ได้หมายถึงสมาชิกที่อยู่หรือไม่อยู่ในที่ประชุมนั้น สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การ “ไม่เข้าประชุม” จึงเท่ากับ “งดออกเสียง” เพราะทำให้เสียงไม่ถึงนั่นเอง
แต่ถ้า สมาชิกรัฐสภา ไม่ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือ “พ้นจากตำแหน่ง” เช่น ลาออก แล้วยังไม่ได้มีกระบวนการเลื่อน ส.ส. บัญชีรายชื่อขึ้นมา หรือยังไม่ได้เลือกตั้งซ่อม (กรณีเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต) หรือยังไม่ได้มีกระบวนการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส.ว. คนใหม่ขึ้นมา (กรณี ส.ว.) ระหว่างช่วงที่นั่งในสภายังว่าง แบบนี้เกณฑ์จำนวนเลือกนายกรัฐมนตรีถึงจะเปลี่ยน
ทั้งนี้ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ว่าจะเลือกใครก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรี จะต้องมาจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคที่มีจำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือกล่าวอย่างง่าย คือ เฉพาะพรรคที่มี ส.ส. มากกว่า 25 คนขึ้นไปในรัฐสภาเท่านั้นที่จะมีสิทธิเสนอชื่อได้
หลังการเลือกตั้ง 2566 มีเพียงแคนดิเดตนายกฯ จากเจ็ดพรรคการเมือง ที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี คือ
แคนดิเดตฝ่ายพรรคเสียงข้างมาก
๐ ก้าวไกล : พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
๐ เพื่อไทย : แพทองธาร ชินวัตร / เศรษฐา ทวีสิน / ชัยเกษม นิติสิริ
แคนดิเดตฝ่ายพรรคเสียงข้างน้อย
๐ ภูมิใจไทย : อนุทิน ชาญวีรกูล
๐ พลังประชารัฐ : ประวิตร วงษ์สุวรรณ
๐ รวมไทยสร้างชาติ : ประยุทธ์ จันทร์โอชา / พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
๐ ประชาธิป้ตย์ : จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณารัฐสภารายชื่อข้างต้นต้องผ่านกระบวนการดังนี้
ขั้นตอนแรก คือ ต้องมี ส.ส. รับรองชื่อดังกล่าวไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หมายความว่าต้องมี ส.ส. ทั้งสิ้น 50 คนขึ้นไปที่ให้การรับรอง
จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นลงคะแนนอย่างเปิดเผยในการประชุมร่วม ส.ส. และ ส.ส. เพื่อหามติ โดยบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรี
ที่มา : ilaw