ด้าน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช กล่าวว่า การที่เมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโกในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นเป็น 4 แหล่ง ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในพุทธศักราช 2535 นับเป็นเวลากว่า 30 ปี แหล่งมรดกวัฒนธรรมของประเทศไทย คือ เมืองโบราณศรีเทพจึงได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกอีกครั้ง ภารกิจของรัฐบาล ยังไม่สิ้นสุดเพียงการเฉลิมฉลองการประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกเท่านั้น กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพภายหลังจากการได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก โดยแผนฯ ดังกล่าวได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะครอบคลุม ทั้งเรื่องการอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 20 – 24 กันยายน 2566 นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการ เรื่อง ศรีเทพกับมรดกโลก ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ถึง 14 มกราคม 2567 เพื่อเผยแพร่เรื่องราว คุณค่า และความสำคัญของเมืองโบราณ    ศรีเทพ ให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกในครั้งนี้

197 Views