1. วันที่ 4 มิ.ย. เอพีรายงานชะตากรรมของบรรดากัปตันและลูกเรือขนส่งสินค้ากว่า 150,000 คนทั่วโลก ที่ต้องทำงานติดต่อกันมานานหลายเดือนและกลับบ้านไม่ได้ เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ช่วงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ระบาดใหญ่

หอการค้าเรือสมุทรโลก หรือไอซีเอส ระบุว่า มีลูกเรือขนส่งสินค้ากว่า 150,000 คน ที่ต้องทำงานเกินระยะสัญญาอยู่ในทะเล และอีกกว่า 150,000 บนบก ที่รอจะไปผลัดเปลี่ยน แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะเกือบทุกประเทศอยู่ในมาตรการล็อกดาวน์มานานหลายเดือนแล้ว

เรือขนส่งสินค้ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก คิดเป็นสัดส่วนการขนส่งสินค้าถึงร้อยละ 80 มีลูกเรือกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก แต่มาตรการล็อกดาวน์ทำให้การเดินทางเข้าประเทศถูกสั่งห้าม และการผลัดเปลี่ยนลูกเรือไม่สามารถทำได้

ฮีโร่โลกลืม? ลูกเรือส่งสินค้า

AP

นายกีย์ เพล็ตเท็น เลขาธิการไอซีเอส กล่าวว่า ลูกเรือเหล่านี้กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกโลกลืมช่วงล็อกดาวน์ เพราะไม่ค่อยมีใครพบเห็น หรือรู้จัก เพราะปกติอยู่แต่บนเรือ แต่หารู้ไม่ว่าคนกลุ่มนี้เอง คือ ผู้รับผิดชอบการขนส่งเชื้อเพลิง อาหาร อุปกรณ์การแพทย์ และสิ่งของจำเป็นให้กับชาวโลก

ไอซีเอส ระบุว่า ต้องการเรียกร้องให้บรรดารัฐบาลของแต่ละชาติเล็งเห็นถึงความสำคัญของคนกลุ่มนี้ และเปิดทางให้กับทางบริษัทเดินเรือสามารถผลัดเปลี่ยนลูกเรือได้ เพราะหลายคนขณะนี้ต้องเผชิญกับขีดจำกัดทางด้านจิตใจจากการทำงานกลางทะเลมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

นายสตีฟ ค็อตตอน เลขาธิการใหญ่องค์การคนงานนานาชาติเพื่อการขนส่งสินค้า ระบุว่า กำลังพยายามส่งสัญญาณที่เด่นชัดให้กับรัฐบาลได้รับรู้ ว่ามาตรการล็อกดาวน์จะใช้ไม่ได้ผลเพราะสินค้าจะขาดแคลนหากไม่มีกลุ่มคนทำงานเหล่านี้ รัฐจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญจุดนี้

ในจำนวนนี้ อาทิ กัปตัน อังเดรย์ โคกันคอฟ ชาวรัสเซีย พร้อมลูกเรือ 21 คน บนเรือขนน้ำมัน ต้องทำงานทุกวันโดยไม่สามารถเทียบท่าเพื่อลงจากเรือได้มานานกว่า 7 เดือนแล้ว จากเดิมที่สัญญาเดินเรือเพียง 4 เดือน

กัปตันโคกันคอฟ เดิมมีกำหนดลงจากเรือที่ประเทศกาตาร์เมื่อกลางเดือนมี.ค. แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจากเรือ เพราะกาตาร์ประกาศล็อกดาวน์ ส่งผลให้เรือสินค้าออกเดินทางขนส่งสินค้าไปยังชาติอื่นต่อ

แต่ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น กลับมาที่เกาหลีใต้อีกรอบ ไปที่สิงคโปร์ แล้วไปเทียบท่าที่ประเทศไทย ต่างก็ประกาศมาตรการดังกล่าว และกัปตันไม่สามารถลงจากเรือเพื่อกลับบ้านได้

กัปตันโคกันคอฟ ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ดาวเทียวมาที่ไทย ว่า “เวลาที่คุณอยู่บนเรือมา 7 เดือนแล้วเนี่ย ก็จะเหนื่อยมากทั้งร่างกายและจิตใจเลยครับ เพราะเราต้องทำงานกันตลอดเวลา พวกเราไม่มีวันนี้ศุกร์เย็นแล้ว หรือใกล้เสาร์อาทิตย์แล้วจะได้หยุดในทะเล เพระเรือเดินตลอด”

รายงานระบุว่า ลูกเรือส่วนใหญ่จะมีสัญญาเดินเรือประมาณไม่เกิน 7 เดือนเต็มที่ แต่ไม่ว่าจะนานแค่ไหนจะต้องมีวันสิ้นสุดสัญญา หากนำวันสิ้นสุดนั้นออกไปเหมือนตอนนี้ ก็จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อขวัญกำลังใจ เพราะไม่ทราบจริงๆ ว่าต้องทำงานทุกวันทุกเวลาไปอีกนานเพียงใด

ด้านนายค็อตตอน กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นน่ากังวลมาก เพราะอาจนำไปสู่ความถี่การเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุไม่คาดฝัน โดยตอนนี้พบว่าบรรดาลูกเรือบางส่วนมีอาการเครียดหงุดหงิดและวิตกกังวลสูงมาก เพราะไม่ทราบว่าเมื่อใดจะได้ลงจากเรือ

“การปฏิบัติงานตอนนี้ คือ รัฐบาลจะต้องเป็นผู้เปิดทางให้มีการผลัดเปลี่ยนลูกเรือเกิดขึ้นให้ได้ เพราะเราไม่สามารถบังคับพวกลูกเรือเหล่านี้ได้ เกิดพวกเขาหยุดทำงานเพื่อประท้วงขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้นกับกระดูกสันหลังการขนส่งสินค้าของโลกขณะนี้” ค็อตตอน ระบุ

ความยากลำบากที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแต่การผลัดเปลี่ยนลูกเรือเท่านั้น ยังรวมถึงกรณีที่ลูกเรือป่วย และต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์ เช่น ลูกเรือของกัปตันสเตฟาน เบอร์เกอร์ ที่พบว่าลูกเรือคนหนึ่งป่วยหนักแต่ไม่ใช่โรคโควิด-19

ฮีโร่โลกลืม? ลูกเรือส่งสินค้า

AP

ทว่า เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้แพทย์ไม่สามารถเดินทางมายังเรือได้ ต้องโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายหลายครั้ง จนได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยของนครดูไบ และทางบริษัทแม่ สัญชาติเยอรมัน นำตัวลูกเรือส่งโรงพยาบาล นอนพักอยู่ถึง 3 สัปดาห์

กัปตันเบอร์เกอร์ มีลูกเรือภายใต้การดูแลถึง 23 คน ในจำนวนนี้ 18 คน เคยมีกำหนดผลัดเปลี่ยนตั้งแต่เดือนพ.ค. ที่วาเลนเซีย ประเทศสเปน ภานใต้สัญญาณเดินเรือ 3 เดือน ล่าสุด ได้รับการต่ออายุสัญญาเป็น 4 และ 5 เดือนแล้ว ขณะที่ลูกเรือฟิลิปปินส์หลายคนต้องทำงานบนเรือมานานกว่า 9 เดือนแล้ว

ด้านบริษัทเจ้าของเรือ Hapag-Lloyd ระบุว่า อยู่ระหว่างพยายามผลัดเปลี่ยนลูกเรือทีมนี้ให้ได้อย่างน้อย 7 คน แต่ก็ยังไม่สามารถหาเที่ยวบินพาลูกเรือฟิลิปปินส์กลับประเทศได้อยู่ดี

“พวกเราเนี่ยไม่ค่อยมีใครเห็นกัน เวลาคุณเห็นเรือสินค้าเข้ามาก็เห็นแต่เรือนั่นแหละ แล้วก็แล่นออกไป จริงๆ พวกเราเนี่ยอยู่ข้างในเรือพวกนั้นครับ ผมอยากให้ทุกคนเห็นใจพวกเราเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อยบ้างจริงๆ” กัปตันเบอร์เกอร์ตัดพ้อ

ฮีโร่โลกลืม? ลูกเรือส่งสินค้า

AP

อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ นางแฮนนาห์ เจอร์ลาช หนึ่งในลูกเรือฝึกหัด ของบริษัทเดียวกัน ที่เคยมีกำหนดลงจากเรือตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. ที่สิงคโปร์ แต่ในที่สุดก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ รวมถึงชาติอื่นในเอเชีย และล่าสุด ถูกปฏิเสธที่ศรีลังกาเช่นกัน

“ดิฉันคิดถึงครอบครับมากเลยค่ะ คิดถึงชีวิตธรรมดาๆ ที่เคยทำได้อย่างออกไปปั่นจักรยาน หรือเดินเล่นในสวน มาตอนนี้ไม่รู้เลยว่าสัญญาเดินเรือจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ วันไหนจะได้พบหน้าครอบครัวอีกครั้งก็ไม่ทราบค่ะ” เจอร์ลาช กล่าวด้วยสีหน้าเหน็ดเหนื่อย

นายเดวิด แฮมมอนด์ ผู้ก่อตั้งองค์การสิทธิมนุษยชนทางทะเล ฮิวแมน ไรตส์ แอ็ด ซี กล่าวว่า ลูกเรือจำนวนมากตั้งหน้าตั้งตารอวันที่จะได้ลงจากเรือ แต่ก็ต้องมาถูกยืดสัญญาออกไป ความเป็นจริงตอนนี้ คือ หากนานาชาติไม่หันมาร่วมมือกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ การผลัดเปลี่ยนลูกเรือคงยาก

 

 

 

ที่มา : ข่าวสด

830 Views