วันที่ 30 มิ.ย. บีบีซี รายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปแห่งเบลเยียม ส่งพระราชสาส์นถึง ประธานาธิบดีเฟลิกซ์ ทชิเซเคดี ผู้นำสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เนื่องในวาระครบ 60 ปีการประกาศอิสรภาพคองโก
โดยกษัตริย์ฟีลิปทรงแสดงความเสียพระทัยอย่างลึกซึ้งที่ครั้งหนึ่งคองโกเคยตกอยู่ใต้การปกครองอันโหดเหี้ยมของจักรวรรดิเบลเยียมในสมัย พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ซึ่งนำไปการทารุณและการเสียชีวิตของชาวแอฟริกันกว่า 10 ล้านคน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ราชวงศ์เบลเยียมแสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการต่อการล่าอาณานิคมในอดีต
ในพระราชสาส์น กษัตริย์ฟีลิปทรงตรัสยกย่องสายสัมพันธ์พิเศษระหว่างเบลเยียมและคองโกในปัจจุบัน แม้จะเคยมีช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดในประวัติศาสตร์ ซึ่งกษัตริย์ฟีลิปทรงไม่ระบุพระนามพระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ลงในพระราชสาส์น
“ข้าพเจ้าประสงค์จะแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ที่ได้รับความเจ็บช้ำในอดีต ความเจ็บปวดของสิ่งที่ตอนนี้เกิดขึ้นจากการเลือกปฏิบัติยังคงปรากฏในสังคมของเรา และข้าพเจ้าจะเดินหน้าต่อสู้กับต่อสู้กับการเหยียดชนชาติทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง” กษัตริย์ฟีลิประบุผ่านพระราชส์น
ทั้งนี้ พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ทรงก่อตั้งเสรีรัฐคองโกขึ้นหลังจากยึดดินแดนซึ่งปัจจุบันคือประเทศคองโก เมื่อปี 2428-2451 โดยพระองค์ทรงเพิกเฉยต่อเงื่อนไขความตกลงในที่ประชุมกรุงเบอร์ลินว่าด้วยการผูกมัดให้รัฐดังกล่าวพัฒนาชีวิตของประชากร
นอกจากไม่ทำตามแล้ว พระองค์ยังใช้กำลังทหารทารุณชาวพื้นเมืองคองโก รวมถึงใช้งานเยี่ยงทาส ทั้งบังคับให้ล่าช้างตัดงาเพื่อนำไปขายในยุโรปและจีน และบังคับให้กรีดยาง
แต่ในที่สุดพระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ก็ถูกบีบให้ยกเลิกการกระทำโหดร้ายที่สร้างความเสื่อมเสียจนฉาวไปทั่วโลก และโอนการควบคุมรัฐคองโกให้แก่รัฐบาลเบลเยียม กระทั่งในปี 2503 คองโกจึงได้รับเอกราช
นอกจากชาวคองโกจะขมขื่นกับความหลังที่หดหู่แล้ว หนุ่มสาวชาวเบลเยียมคนรุ่นใหม่ยังแสดงความไม่พอใจต่อระบบจักรวรรดินิยม ซึ่งในช่วงการลุกฮือต่อต้านการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติจากกรณีของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจผิวขาวใช้กำลังเกินเหตุในการจับกุมจนเสียชีวิตอย่างสลด เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
กลุ่มผู้ประท้วงชาวเบลเยียมจึงพากันทำลายอนุสาวรีย์ของพระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 พร้อมทั้งเรียกร้องให้รื้อถอนรูปปั้นที่แสดงถึงการสนับสนุนการค้าทาสออกทั้งหมด