ถึงห้วงเวลาโค้งสุดท้าย… การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 ที่ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างดุเดือด ทั้งฝั่ง “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งพรรครีพับลิกัน ที่ขนสถิติทางเศรษฐกิจออกมาโอ้อวด หวังเรียกคะแนนเสียงกลับไปนั่งเก้าอี้อีกเป็นสมัยที่ 2 และ “โจ ไบเดน” ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ที่ขนนโยบายมาประชัน แถมเหน็บนโยบายเก่าๆ ของคู่แข่ง ปลุกความหวังสู่การเปลี่ยนแปลง ในชนิดที่ว่าไม่มีใครยอมใคร…
ปฐมบท “สงครามการค้า” เริ่มต้นหลังจาก “ทรัมป์” ถูกเลือกตั้งเข้ามาในปี 2559 ซึ่งการมาของเขาในครั้งนั้นมาพร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ “อเมริกา” กลับมาแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ด้วยนโยบาย American First ที่คุ้นหูกันดี
ซึ่งต่อมาในปี 2561 “ทรัมป์” ก็เปิดฉาก “สงครามการค้า” อย่างเป็นทางการ ด้วยการตราหน้า “จีน” ว่าเป็น “พวกขี้โกง!”
คำอ้างที่ “ทรัมป์” บอกไว้ตอนนั้น และตอนนี้ก็ยังแปะหราอยู่บนหน้าเว็บไซต์หาเสียงของ “ทรัมป์” คือ กฎหมาย, นโยบาย รวมถึงการกระทำของ “จีน” ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ และสร้างความเสียหายให้กับเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อย่างมาก จนนำไปสู่การตั้งกำแพงภาษี 25% ในสินค้าจีนมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.8 ล้านล้านบาท และการสอบสวนภายใต้มาตรา 301 ของกฎหมายการค้า 1974
โดยปัจจุบัน แม้จีนจะเป็นคู่ค้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหรัฐฯ รองจากเม็กซิโกและแคนาดา แต่จีนกลับเป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลสะสมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มูลค่ากว่า 1.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.1 ล้านล้านบาท
ที่ต่อมา จีนออกมาให้คำมั่นกับ “ทรัมป์” ว่าจะเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าและบริการของสหรัฐฯ อย่างแน่นอน โดยภายในปี 2563-2564 จะมีมูลค่ารวม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.23 ล้านล้านบาท แต่จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน การนำเข้าของจีนทั้งหมดที่ครอบคลุมสินค้าของสหรัฐฯ มีเพียงแค่ 5.61 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาทเท่านั้น
ซึ่งในกรณีนี้ หาก “ทรัมป์” คว้าชัยชนะอีกครั้ง ก็มีความเป็นไปได้ว่า เขาจะเร่งเครื่องไล่บี้ “จีน” แบบเต็มสูบแน่นอน เพราะหากไปดูหน้าเว็บไซต์หาเสียงของทรัมป์แล้ว เขาดูจะภาคภูมิใจกับ “สงครามการค้า” นี้เอามากๆ
แล้วสำหรับ “ไบเดน” เขาจะจัดการอย่างไรกับ “สงครามการค้า” ที่ว่านี้?
หากมองจากท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ของเขาแล้ว หาก “ไบเดน” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เชื่อว่า “สงครามการค้า” อาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ในระยะเริ่มแรก ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าหรือการยกเลิกพิกัดทางภาษี…
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ “ทรัมป์” ก็พอเห็นอยู่แล้วว่า เขาต้องการให้สหรัฐฯ เดินไปทางไหน แต่ในส่วนของ “ไบเดน” เขาแทบไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาอะไรที่เป็นการผูกมัดตัวเองเลย
แต่จะลองมาไล่ดูกันทีละส่วน…ว่าในแต่ละสถานการณ์ “ไบเดน” จะเดินเกมไปทางไหน?
ในส่วนของ “ทรัมป์” เขาชู American First แต่ในส่วน “ไบเดน” เขาชู buy American และ by American โดยให้คำมั่นว่าจะทำให้อุตสาหกรรมการผลิตกลับคืนมาสู่สหรัฐฯ อีกครั้ง และยังสัญญาว่าจะจัดหาเงินทุนสำหรับสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 12 ล้านล้านบาท พร้อมสร้างงานอย่างน้อย 5 ล้านตำแหน่ง ในอุตสาหกรรมการผลิตและนวัตกรรม
แต่อย่างที่บอกเขาไม่ได้ให้คำมั่นที่ผูกมัดตัวเองมากนัก โดยหยิบยกการทำ Reshoring หรือการดึงการผลิตกลับบ้านเกิด เพราะ “ไบเดน” ต้องการย้ายห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในสถานะวิกฤติ กลับสู่สหรัฐฯ
ส่วนหากว่า ถ้า “ไบเดน” ชนะแล้วจะยกเลิกพิกัดทางภาษีไหม ก็ดูยังมีความเป็นไปได้น้อย อย่างน้อยในช่วงระยะแรก เขาก็คงยังไม่ทำ แม้จะอยู่ภายใต้การกดดันจากสหภาพยุโรป (EU) ก็ตาม
สถานการณ์ 2: ความตึงเครียด “จีน” ที่รุนแรงและควบคุมยาก
แม้ก่อนหน้านี้ เขาเคยเย้ยข้อตกลงทางการค้าของ “ทรัมป์” กับ “สี จิ้นผิง” ว่าเป็นข้อตกลงที่ “กลวงโบ๋” และตำหนิการกำหนดพิกัดภาษีของทรัมป์ที่เป็นบ่อเกิดภาวะตกต่ำของอุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐฯ แต่จนแล้วจนรอด “ไบเดน” ก็ไม่ได้มีการให้คำสัญญาใดๆ ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีการขูดรีดทางภาษีต่อไป หรือว่าจะเพิกถอนพิกัดทางภาษีออก
หากย้อนไปในเดือนพฤษภาคม “ไบเดน” เคยแถลงต่อหน้าสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม ว่า เขาจะตั้งกำแพงภาษีเมื่อจำเป็น, ความแตกต่างระหว่างเขากับทรัมป์ คือ เขามีกลยุทธ์ที่จะได้ชัยชนะจากการเรียกเก็บภาษี ไม่ใช่แค่การอวดเก่งจอมปลอม
ในส่วนที่ว่า “ไบเดน” จะพาสหรัฐฯ กลับเข้าไปร่วมข้อตกลง Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP อีกครั้งหรือไม่ หลังจากที่ “จีน” เดินหน้าแสดงความคิดเห็นและอยากเข้าร่วมอยู่ตลอดเวลา ถ้ายึดตามการดีเบตเมื่อปีที่แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่า เขาอาจกลับเข้าไปเจรจาอีกครั้งเพื่อเป็นหนึ่งใน CPTPP ที่ “ทรัมป์” ถอนตัวออกในตอนแรก
สถานการณ์ 3: TikTok & Huawei
“ไบเดน” ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า เขาจะต่อต้านอำนาจของบริษัทเทคโนโลยีจีน เช่น Huawei และ TikTok เพราะตัวเขาเองก็มีความกังวลถึงการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ชาวอเมริกันกว่า 100 ล้านคนของ TikTok ซึ่งเขากล่าวบนเวทีหาเสียงว่า เขาจะดึงผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์มาร่วมทีม
ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าย้อนไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ “ไบเดน” เคยออกมาสนับสนุนการแบนอุปกรณ์ Huawei ในสหรัฐอเมริกา และยังยืนยันว่า เขาจะพัฒนาข้อบังคับของโลกเกี่ยวกับการจารกรรมทางไซเบอร์ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และเทคโนโลยี AI
จากมาตรการกับ “จีน” ที่ว่ามาทั้งหมด “ไบเดน” ดูจะชัดเจนในเรื่องการขโมยทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด โดยเขาสัญญาว่า จีนจะได้รับบทลงโทษแน่นอน หากพบว่ามีการขโมยเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และข่มขู่ว่าจะตัดออกจากการเข้าถึงตลาดและระบบการเงินของสหรัฐฯ
นี่เป็นเพียง 3 สถานการณ์ที่คาดการณ์จากคำหาเสียงของ “ไบเดน” และทิศทางของ “ทรัมป์” ที่มีท่าทีต่อ “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
เรายังไม่อาจรู้ได้ว่า ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 กันแน่ แต่ก็พอเดาได้ว่า หาก “ทรัมป์” ชนะ ทิศทางคงยังร้อนแรงไม่เปลี่ยน แต่หาก “ไบเดน” ชนะ จีนก็คงจะอุ่นใจได้ในช่วงแรกว่าคงไม่รุนแรงไปกว่านี้.
[/responsivevoice]ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์