รัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับแผนสืบหาต้นตอโควิด-19 ใน “ระยะที่สอง” ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งรวมถึงสมมติฐานที่ว่าเชื้อไวรัสอาจหลุดออกมาจากห้องแล็บของจีนเอง
.
องค์การอนามัยโลกเสนอที่จะทำการศึกษาวิจัยขั้นที่ 2 เพื่อระบุต้นตอของเชื้อโควิด-19 ที่พบครั้งแรกในจีน โดยจะมีการตรวจสอบชุดข้อมูลจากห้องปฏิบัติการและตลาดต่างๆ ภายในเมืองอู่ฮั่น ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ทางการจีนยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส
.
“เรารับไม่ได้กับบางแง่มุมในแผนการสืบหาต้นตอไวรัส ซึ่งขัดต่อสามัญสำนึก และไม่อิงกับหลักวิทยาศาสตร์” เจิง อี้ซิน (Zeng Yixin) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
.
เจิง ระบุด้วยว่า ตนถึงกับอึ้งเมื่อได้อ่านแผนของ WHO เป็นครั้งแรก เพราะมีการสันนิษฐานว่าจีนฝ่าฝืนกฎระเบียบของห้องปฏิบัติการ จนทำให้เชื้อไวรัสหลุดออกมาระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัย
.
ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผอ.WHO ออกมายอมรับเมื่อต้นเดือนนี้ว่า การตรวจสอบหาต้นตอโควิด-19 ในจีนเผชิญอุปสรรค เนื่องจากทีมสอบสวนเข้าไม่ถึงข้อมูลดิบในช่วงวันแรกๆ ที่เชื้อเริ่มแพร่ระบาด
.
เจิง ย้ำจุดยืนของจีนว่า ข้อมูลบางอย่าง “แชร์ทั้งหมดไม่ได้” เนื่องจากกระทบความเป็นส่วนตัว
.
“เราหวังว่า WHO จะกลับไปทบทวนข้อคิดเห็นและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจีนอย่างจริงจัง และทำให้การสืบหาต้นตอโควิด-19 เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง และไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรก” เจิง กล่าว
.
ผู้ป่วยโควิด-19 เคสแรกๆ ของโลกถูกพบที่เมืองอู่ฮั่นทางตอนกลางของจีนเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2019 โดยตอนนั้นเชื่อกันว่าไวรัสน่าจะแพร่จากสัตว์ซึ่งถูกจำหน่ายอยู่ในตลาดค้าอาหารทะเลแห่งหนึ่งมาสู่คน
.
เมื่อเดือน พ.ค. ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้สั่งให้ผู้ช่วยไปหาคำตอบเรื่องต้นตอของโควิด-19 พร้อมระบุด้วยว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ กำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการของจีนจนทำให้ไวรัสรั่วไหลออกสู่ภายนอก
.
เจิง รวมถึงเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญจีน เรียกร้องให้ WHO ขยายขอบเขตการสืบหาต้นตอโควิด-19 ให้ไกลไปกว่าจีน และครอบคลุมถึงประเทศอื่นๆ บ้าง
.
“เราเชื่อว่าทฤษฎีไวรัสหลุดมาจากห้องแล็บนั้นเป็นไปได้ยากมาก และไม่จำเป็นจะต้องทุ่มเทความพยายามให้กับประเด็นนี้อีก” เหลียง วั่นเหนียน หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญจีนในทีมตรวจสอบของ WHO ระบุ พร้อมเสนอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของสัตว์พาหะ โดยเฉพาะในประเทศที่มีประชากรค้างคาวอยู่มาก
.
เหลียง ชี้ว่า แม้ข้อสันนิษฐานเรื่องไวรัสหลุดจากห้องแล็บอาจจะปฏิเสธไม่ได้ทั้งหมด แต่หากมีหลักฐานรับรอง ประเทศอื่นก็ควรที่จะถูกตรวจสอบด้วยว่าห้องแล็บของพวกเขาอาจเป็นต้นตอไวรัสหรือไม่
.
องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดทฤษฎี ‘lab leak’ นี้ขึ้นมาก็คือ สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (WIV) ซึ่งได้นำฐานข้อมูลตัวอย่างลำดับพันธุกรรมไวรัสออกจากระบบออนไลน์เมื่อปี 2019
.
เมื่อถูกถามถึงเรื่องดังกล่าว หยวน จื่อหมิง อาจารย์ประจำ WIV และผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งชาติจีน ให้คำอธิบายกับสื่อมวลชนว่า ปัจจุบันฐานข้อมูลเหล่านั้นถูกแชร์เป็นการภายในเพื่อป้องกันการถูกโจมตีทางไซเบอร์

 

ที่มา: รอยเตอร์

478 Views