ตระกูลจิราธิวัฒน์ ครอบครัวมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของไทยเข้าซื้อห้างหรูของอังกฤษ จากครอบครัวมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของแคนาดา ขยายเครือข่ายค้าปลีกในยุโรป และเข้าสู่อเมริกาเหนือ

สื่ออังกฤษอย่างน้อย 2 แห่ง รายงานเมื่อ 2 ธ.ค. ว่าเครือเซ็นทรัลชนะการแข่งขันเข้าซื้อห้างสรรพสินค้าเซลฟริดเจส (Selfridges) 4 พันล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 180,000 ล้านบาท

เดอะไทมส์รายงานว่า ครอบครัวเวสตัน (Weston) เจ้าของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว บรรลุข้อตกลงขายกิจการให้เครือเซ็นทรัลแล้ว

ตระกูลมหาเศรษฐีชาวแคนาดา อันดับ 1 ของประเทศ ได้บรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเซ็นทรัลแล้วในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา และต้องการปิดดีลให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม กว่ากระบวนการซื้อขายจะเสร็จสมบูรณ์ เวลาอาจทอดยาวไปถึงเดือนหน้า

ส่วนสกายนิวส์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า เครือเซ็นทรัลกำลังทำงานร่วมกับวาณิชธนกิจซิตี้ (Citi) แสดงความสนใจในกิจการของเซลฟริดเจส แม้พวกเขาจะได้รับคำเตือนว่าไม่มีความแน่นอนว่าจะมีการเสนอราคาจากกลุ่มค้าปลีกของไทยก็ตาม

ก่อนหน้านี้ สกายนิวส์รายงานว่าไม่ได้มีแค่เครือเซ็นทรัลของไทยเท่านั้นที่สนใจเข้าซื้อกิจการห้างหรูของอังกฤษ แต่ยังมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของกาตาร์ รวมถึง เลน ครอว์ฟอร์ด (Lane Crawford) เจ้าของห้างสรรพสินค้าในฮ่องกง ที่สนใจดีลนี้ด้วย

ถึงขณะนี้ เซลฟริดเจสปฏิเสธจะให้ความเห็นเกี่ยวกับดีลที่เกิดขึ้น ขณะที่ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 2 ธ.ค. ชี้แจงข่าวที่ปรากฏในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่า “ขณะนี้บริษัทฯ ไม่มีส่วนในการดำเนินการตามรายละเอียดของข่าวดังกล่าว” แต่ผู้สื่อข่าวบีบีซีเข้าใจว่าครอบครัวเวสตันเจรจาการขายนี้กับ บริษัทอื่นในเครือของกลุ่มเซ็นทรัล

เซลฟริดเจส ห้างหรู อายุ 113 ปี

เซลฟริดเจส ก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวอเมริกัน นายแฮร์รี กอร์ดอน เซลฟริดจ์ ในปี ค.ศ. 1908 (ปี พ.ศ. 2451) จึงถือเป็นกิจการเก่าแก่ที่มีอายุถึง 113 ปีแล้ว

จากริ่เริ่มก่อตั้งสาขาแรกบนถนนออกฟอร์ด ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อเป็นแหล่งชอปปิงสินค้าแบรนด์เนม ปัจจุบันได้ขยายไปจนมี 25 สาขาทั่วโลก รวมทั้งไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา

ในอดีต เซลฟริดเจสเคยเป็นห้างใหญ่อันดับ 2 ของกรุงลอนดอน รองจากห้างดังที่เป็นสัญลักษณ์ของลอนดอน คือ แฮร์รอดส์ (Harrods)

คนไทยที่เป็น “นักช็อป” แทบไม่มีใครไม่รู้จักห้างนี้ ซึ่งขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในห้าง “ดูดทรัพย์” ของคนไทยที่ไปเที่ยวลอนดอน

ห้าง
ที่มาของภาพ,BBC THAI

สารคดีเรื่อง “Secret of Selfridges” หรือความลับของเซลฟริดเจส ที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ บอกเล่าความเป็นมาของห้างเก่าแก่ว่า นายเซลฟริดจ์มีความตั้งใจจะพลิกโฉมประสบการณ์การช็อปปิงของคนอังกฤษ จากเดิมที่การออกไปซื้อของเป็นกิจวัตรส่วนหนึ่งของงานบ้านที่น่าเบื่อ ให้กลายเป็นกิจกรรมสันทนาการที่ผู้คนได้รับความรื่นรมย์จากการจับจ่ายใช้สอย

นายเซลฟริดจ์ใช้ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เป็นที่เผยแพร่ประสบการณ์การช็อปปิงแบบชาวอเมริกันเข้ามาในอังกฤษ ห้างเซลฟริดเจสเป็นห้างแรกที่นำสินค้ามาจัดแสดงไว้ตามชั้นเพื่อให้ลูกค้าได้เข้ามาหยิบจับและทดลองใช้ได้ด้วยตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ โดยไม่ต้องผ่านพนักงานขาย เหมือนร้านขายของทั่วไปในยุคนั้น

นักธุรกิจผู้นี้ยังมีแนวคิดล้ำสมัยในด้านของสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยเซลฟริดเจสเป็นห้างแรกในอังกฤษที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีพื้นที่สาธารณะในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสบายใจและตามใจตัวเองได้อย่างถูกกฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นห้างแรกที่จัดให้มีแผนกสินค้าประเภทน้ำหอม เครื่องสำอาง และของใช้ของผู้หญิงมาตั้งอยู่ที่บริเวณด้านหน้าและโถงกลางชั้น 1 ของห้าง ซึ่งเป็นแนวคิดการจัดแผนกห้างที่ทั่วโลกนำไปใช้หลังจากนั้น รวมถึงห้างสรรพสินค้าในไทยด้วย

ห้างที่มาของภาพ,NOPPORN WONG-ANAN/BBC THAI
คำบรรยายภาพ, ดิลเพลย์หน้าห้างรับเทศกาลคริสต์มาส

วิสัยทัศน์ของนายเซลฟริดจ์ที่ต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ของการมาห้างสรรพสินค้า จากเดิมที่ผู้คนมาซื้อของแล้วรีบกลับบ้าน ให้เป็นสถานที่ที่ผู้คนมาใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจ เขาจึงจัดพื้นที่ชั้น 6 ซึ่งเป็นชั้นบนสุดของห้างเซลฟริดเจสให้เป็นพื้นที่สำหรับร้านอาหาร ร้านจิบชายามบ่าย รวมถึงมีกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ เช่น สนามไดร์ฟกอล์ฟขนาดย่อม ไปจนถึงชมรมยิงปืนสำหรับผู้หญิง

นอกจากชื่อเสียงในฐานะที่เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงของวงการห้างสรรพสินค้าในอังกฤษแล้ว ห้างเซลฟริดเจสยังได้รับการจดจำจากการเป็นสถานที่หลบภัยจากการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพนักงานของห้างเซลฟริดเจสจะสลับกันเป็นเป็นผู้สังเกตการณ์ว่าจะมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดตอนไหน และเมื่อมีสัญญาณว่าจะเกิดการโจมตีทางอากาศ ทางห้างก็จะเปิดพื้นที่บริเวณชั้นใต้ดินให้เป็นที่หลบภัย

ในสมัยนั้น ชั้นใต้ดินของห้างเซลฟริดเจสยังถูกใช้เป็นที่ติดตั้งเครื่องมือป้องกันการถูกดักฟังที่ชื่อว่า SIGSALY ที่กลุ่มประเทศพันธมิตรใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นับเป็นสถานที่แห่งที่ 2 ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์นี้ โดยเครื่องแรกตั้งอยู่ที่อาคารเพนตากอนในประเทศสหรัฐอเมริกา

ย้อนเส้นทางเซ็นทรัล “ยักษ์ค้าปลีกไทย” บุกตลาดห้างหรูในยุโรป

เครือเซ็นทรัล ถือเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยเริ่มเปิดห้างสรรพสินค้าครั้งแรกในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2508 ปัจจุบันได้ขยายกิจการ จนมีห้างร้านถึง 3,700 สถานที่/สาขาทั่วโลก มีฐานลูกค้าสมาชิกกว่า 21 ล้านคน จากซูเปอร์มาร์เก็ต ขยายไปสู่โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ และห้างสรรพสินค้าในยุโรป จนก้าวขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจห้างหรูระดับโลก
ห้าง
ที่มาของภาพ,AFP/GETTY IMAGES

ปี 2554 เซ็นทรัลบุกตลาดยุโรปครั้งแรก โดยทุ่มเงิน 260 ล้านยูโร (คิดเป็น 11,000 ล้านบาท) เข้าซื้อกิจการห้างหรูสัญชาติอิตาลีอย่าง ลา รินาเซนเต (La Rinascente) แบบ 100% ทั้งนี้ CRC บริษัทในเครือเซ็นทรัลเป็นเจ้าเดียวที่ติดต่อขอซื้อห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ที่ก่อตั้งในปี 2408 ซึ่งได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าตลาดบนแห่งนี้ ก่อนเข้าบริหาร ลา รินาเซนเต ที่มีทั้งหมด 11 สาขา กระจายตัวอยู่ตามเมืองสำคัญ ๆ ของอิตาลี

ปี 2556 เซ็นทรัลซื้อกิจการห้างเก่าแก่ที่สุดของประเทศเดนมาร์ก ที่ชื่อว่าห้าง อิลลุม (Illum) ก่อตั้งในปี 2468 ที่กรุงโคเปนเฮเกน

ปี 2558 เซ็นทรัลจับมือกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของยุโรป “ซิกนา” (SIGNA) เข้าซื้อกิจการห้างระดับพรีเมียมและลักชัวรีในประเทศเยอรมนี 3 แห่ง ที่อยู่ใน 3 เมืองใหญ่ ได้แก่ ห้างคาเดเว (KaDeWe) เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2450, ห้างอัลสแตร์เฮาส์ (Alsterhaus) เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2440 และห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger) เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2448 ทั้งนี้กลุ่มบริษัทเซ็นทรัลได้เข้าถือหุ้นของกลุ่มคาเดเว ซึ่งเป็นเจ้าของห้างทั้ง 3 แห่ง ในสัดส่วน 50.1% ส่วนอีก 49.9% อยู่ในความครอบครองของซิกนาเป็นผู้ครอบครอง

ปี 2563 เซ็นทรัลร่วมกับซิกนาอีกครั้ง ทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการห้าง โกลบัส (Globus) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีอยู่ 18 สาขา จากบริษัท Migros-Genossenschafts-Bund (MGB) โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน 50:50 ทั้งนี้โกลบัสถือเป็นอีกห้างเก่าแก่ที่มีอายุ 129 ปี (เปิดให้บริการปี 2435) ที่เครือเซ็นทรัลเข้าไปลงทุน

การเข้าซื้อกิจการห้างเซลฟริดเจส จึงถือเป็นการเติมพอร์ตห้างระดับไฮเอนด์ของเครือเซ็นทรัล

ครอบครัวจิราธิวัฒน์ มหาเศรษฐีอันดับ 4 ของไทย

เครือเซ็นทรัลเป็นของตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันมีนายทศ จิราธิวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3 เป็นประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเซ็นทรัล

ทศ จิราธิวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3
ที่มาของภาพ,LIGHTROCKET/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ, ทศ จิราธิวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของกลุ่มเซ็นทรัล

20 ก.พ. 2563 ครอบครัวจิราธิวัฒน์ได้นำ “เซ็นทรัล รีเทล” เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระดมทุนได้ถึง 7.8 หมื่นล้านบาท จากการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering – IPO) ที่มีมูลค่าสูงสุดของประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

ตระกูลจิราธิวัฒน์ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของไทย ประจำปี 2564 จัดโดยนิตยสารฟอร์บส์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.64 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.6 หมื่นล้านบาท

1,701 Views