ระหว่างการไต่สวนคดีหมิ่นประมาทที่จอห์นนี เดปป์ ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง ฟ้องแอมเบอร์ เฮิร์ด ดาราฮอลลีวูดและอดีตภรรยาในฐานหมิ่นประมาท ผู้ที่ติดตามข่าวนี้อาจจะได้เห็นภาพของคามิล วาสเกวซ หนึ่งในทีมทนายของจอห์นนี เดปป์ ว่าความในศาลด้วยความหลักแหลม พร้อม ๆ กับลุคการแต่งกายที่สวมกางเกงในศาล นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา แต่รู้หรือไม่ว่า ในประเทศไทย ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาไทยยังกำหนดให้นักกฎหมายหญิงต้องสวมกระโปรงเท่านั้น

ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา ที่สภาทนายความฯ ใช้อ้างอิงเรื่องการแต่งกายนั้น เป็นข้อบังคับที่บัญญัติตั้งแต่ปี 2507 ภายใต้พระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา ที่ออกมาตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. นี้ แต่ข้อบังคับเรื่องการแต่งกายของสมาชิกนักฎหมาย ทนายความผู้หญิง ไม่เคยมีการแก้ไขแต่อย่างใด

เรื่องนี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และกลุ่มนิติฮับ เคยเคลื่อนไหว เมื่อปี 2564 ตั้งแต่การยื่นเรื่องต่อสภาทนายความฯ เนติบัณฑิตยสภา และเริ่มการรณรงค์ใน change.org น.ส. คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุกับบีบีซีไทยว่า จนถึงขณะนี้ข้อบังคับดังกล่าวก็ยังไม่ถูกแก้ไข

จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว มาจากการที่ สนส. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกทนายความหญิงหลายคน ซึ่งเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา และสภาทนายความ ถูกผู้พิพากษาตักเตือนเรื่องการสวมกางเกงไปว่าความในศาลว่าไม่เหมาะสม บางรายถูกทนายความฝ่ายตรงข้ามโจมตีและกล่าวหาว่าแต่งกายผิดมารยาททนายความ

น.ส. คอรีเยาะ ทนายความหญิงที่ไม่เคยสวมกระโปรงขึ้นว่าความเลย เล่าว่า ได้ทำหนังสือไปยังสภาทนายความฯ แต่ได้รับหนังสือตอบกลับมาว่า ระเบียบไม่ได้ห้ามทนายความหญิงสวมกางเกง หลังจากนั้นจึงส่งจดหมายเปิดผนึกให้สภาทนายความ แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการตีความระเบียบเช่นนี้ แต่หลังจากนั้น ก็ยังมีทนายความผู้หญิงถูกทักเรื่องสวมกางเกงอยู่

สนส. ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและสภาทนายความฯ ขอให้ประกาศแนวปฏิบัติว่าไม่ได้ห้ามทนายความหญิงสวมกางเกง ตามที่สภาทนายความฯ เคยมีหนังสือตอบกลับมายัง สนส. แต่เมื่อเดือน พ.ค. 2564 สำนักประธานศาลฎีกาได้มีหนังสือตอบกลับเกี่ยวกับระเบียบการแต่งกายของทนายความที่สวมครุยเนติบัณฑิต ให้ยึดตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 รวมทั้งต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 17 แห่งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ด้วย

นั่นหมายความว่า ระเบียบข้อบังคับการแต่งกายของนักกฎหมาย ทนายความหญิงในปัจจุบัน ยังอิงกับข้อบังคับที่บัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2507

ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 (2) ระบุว่า “สมาชิกที่เป็นหญิง แต่งกายแบบสากลนิยมกระโปรงสีขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่นซึ่งเป็นสีเข้ม และไม่ฉูดฉาด เสื้อสีขาวหรือสีตามกระโปรง รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล ดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย”

“โดยส่วนตัวพี่ก็สวมกางเกงไป ไม่ใช่ท้าทาย แต่เราคิดว่า ผู้หญิงสวมกางเกงไปว่าความที่ศาลต้องทำให้มันเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าระเบียบจะยังไม่เปลี่ยน” น.ส. คอรีเยาะ กล่าวกับบีบีซีไทย

นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เห็นว่าเหตุที่ไม่มีการปรับแก้ระเบียบดังกล่าวน่าจะเป็นเพราะความคิดแบบอนุรักษ์นิยมในสภาทนายความฯ ที่เห็นว่าระเบียบข้อบังคับดังกล่าวไม่กระทบอะไร “เพราะมีมาตั้งนานแล้ว”

“เขาไม่ได้มอง เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องความเปลี่ยนไปของโลกของสังคม แต่ยุคสมัยมันก็เปลี่ยนไปนะ เราก็คิดเรื่องความเสมอภาพทางเพศแล้ว ตอนนี้ไม่มีการแบ่งแยกเจนเดอร์แล้ว ผู้หญิง ผู้ชาย คนข้ามเพศก็เป็นทนายความเยอะแยะ… เราคิดว่าการแต่งกาย ต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิง กับ กระโปรง มันไม่เท่ากับความเรียบร้อย”

818 Views