การชุมนุมของกลุ่มมวลชนอิสระที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง คืนที่ 11 มิ.ย. หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม “เดินไล่ตู่” จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในช่วงเย็น เป็นการกลับมาอีกครั้งของการชุมนุมของมวลชนอิสระในรอบ 7 เดือนนับจากครั้งสุดท้ายในเดือน พ.ย. 2564

ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 11 มิ.ย. ประชาชนจำนวนหนึ่งมารวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในการชุมนุมไร้แกนนำ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เดินไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง

การชุมนุมดังกล่าวจบลงในช่วงเย็นด้วยกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง 9 คน และเปิดแฟลชจากโทรศัพท์มือถือ เป็นกิจกรรมสุดท้าย ก่อนผู้ชุมนุมแยกย้าย หลังจากนั้นที่บริเวณแยกดินแดงตลอดคืน เกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนและมวลชนอิสระ

เหตุการณ์ตลอดทั้งคืนจนถึงเวลาประมาณ 23.00 น. ผู้ชุมนุมบางส่วนขว้างปาสิ่งของไปทางแถวของตำรวจ บางส่วนปาประทัดลงบนถนน จุดพลุ มีเหตุการณ์ชายฉกรรจ์ทุบและเผารถตำรวจ ส่วนตำรวจควบคุมฝูงชน ได้ฉีดน้ำสกัดผู้ชุมนุม ยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง นอกจากนี้ยังปรากฏเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าจับและค้นตัวสื่ออิสระ

“มันรีพีทแพทเทิร์น (เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำ) เมื่อเดือนสิงหา-ตุลา ปีที่แล้วเลย ซึ่งกลุ่มที่มาตอนกลางคืน จะเห็นรูปแบบค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นเยาวชนทะลุแก๊ซ เมื่อปีที่แล้ว” ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับบีบีซีไทย

การรวมตัวชุมนุมของกลุ่มมวลชนอิสระ คืนวันที่ 11 มิ.ย. เกิดขึ้นหลังจากครั้งล่าสุดในเดือน พ.ย. 2564 ที่มีการชุมนุมและเหตุรุนแรงระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนและมวลชนอิสระบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและถนนวิภาวดีต่อเนื่องนานเกือบ 4 เดือน ระหว่างเดือน ส.ค.- พ.ย. 2564 เป็นเหตุการณ์ที่ถูกสื่อและนักวิชาการเรียกว่า “สมรภูมิดินแดง”

การชุมนุมของมวลชนอิสระ มีเหตุการณ์เยาวชนชายวัย 15 ปี ถูกยิงที่ศีรษะระหว่างร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างการชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลดินแดงที่ต่อเนื่องมาจากการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 16 ส.ค. และเสียชีวิตในเดือน ต.ค.

เหตุใดการชุมนุมของมวลชนอิสระหรือที่เรียกชื่อกันว่า “ทะลุแก๊ซ” กลับมาอีกครั้ง ผศ.ดร.กนกรัตน์ ซึ่งลงพื้นที่ศึกษาวิจัยถึงที่มาของการเกิดขึ้นของการชุมนุมที่แยกดินแดง สัมภาษณ์เยาวชนผู้ร่วมชุมนุม 30 คน เมื่อปี 2564 กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เพราะนับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่ม “ทะลุแก๊ซ” ยุติลง รัฐบาลยังไม่เคยศึกษาปัญหาว่า อะไรคือที่มาของ “ม็อบ” ในครั้งนั้นเลย ซึ่งพวกเขาไม่ได้มีข้อเรียกร้องเพียงให้ พล.อ. ประยุทธ์ลาออกเท่านั้น อีกทั้งยังจบด้วยการจับกุมผู้เข้าร่วมชุมนุม เกือบ 400 คน ประเมินจากการสังเกตการณ์ ที่คาดว่าแกนนำที่อยู่แถวหน้ามีอย่างมากประมาณ 500-600 คน

“การแก้ปัญหาของรัฐกลับดำเนินคดีเพิ่มต้นทุนให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุม แล้วก็ปล่อยให้ม็อบสลายไป ท่ามกลางปัญหาที่ค้างคา อันนี้คือเรื่องแรกที่ว่าทำไมทะลุแก๊ซจึงกลับมา”

375 Views