เด็กอายุ 6 ปีคนหนึ่งใน กทม. ทานขนมผสมใบกัญชาแล้วมีอาการสมาธิสั้น และซนผิดปกติ ส่วนเด็กอายุ 15 ปีครึ่งที่ป่วยภาวะซึมเศร้า เผลอสูบบุหรี่ผสมกัญชา 2 มวน จนคลุ้มคลั่งถือมีดวิ่งไล่แทงผู้คน

นี่เป็นกรณีผู้ป่วยเด็กจากอิทธิพลของกัญชาที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้รับรายงานในช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จนเกิดความวิตกว่า การปลดล็อกกัญชา-กัญชง ออกจากยาเสพติดให้โทษผิดกฎหมาย ที่เริ่มมีผลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. กำลังส่งผลต่อเยาวชนไทยมากขึ้น จากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเด็ก รวมถึงตัวผู้ปกครองเอง

รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และกุมารแพทย์ผู้เชียวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง และอนาคตผู้ป่วยเด็กจากกัญชาจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขา และเครือข่ายนักวิชาการและกุมารแพทย์เคยเตือนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ก่อนปลดล็อก “กัญชาเสรี” เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. แล้ว

“เข้าใจว่าเขา (รัฐบาล) ไม่ได้ตั้งใจให้เด็กเข้าถึงกัญชา แต่เขาไม่ได้ปกป้องเด็กและเยาวชน…ผู้ใหญ่กำลังทำอะไรกับเด็ก ๆ” รศ.นพ. สุริยเดว กล่าวกับบีบีซีไทย

สิ่งที่รัฐบาลทำได้ในตอนนี้ คือ “รัฐบาลผูกปมปัญหาขึ้นมา กล้าไหมที่จะกลับไปล็อก (กัญชา) ใหม่ คุณต้องไปออกกฎเกณฑ์กติกาให้มันเรียบร้อย”

สอดคล้องกับความเห็นของ พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด โรงพยาบาลเมดพาร์ค ซึ่งเพจเฟซบุ๊กของเธอมีผู้ติดตามกว่า 4 แสนคน เธอมองว่า กัญชาควรใช้เฉพาะทางการแพทย์อย่างเดียว “แต่เป็นแพทย์มา 20 กว่าปี ก็ไม่เคยเจอกรณีที่ต้องใช้กัญชารักษา”

ห้ามผสมกัญชาในอาหาร-ติดฉลากเตือนชัดเจน

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ถึงผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น โดยเสนอรัฐบาลให้มีมาตรการควบคุม แบ่งเป็น 4 ข้อ ดังนี้

1. เห็นควรให้กำหนดการใช้กัญชาเฉพาะกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น โดยอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

2. ต้องมีมาตรการห้ามมิให้มีการใช้กัญชา และสารสกัดจากกัญชา เป็นส่วนประกอบในอาหาร ขนม และเครื่องดื่มทุกชนิด เนื่องจากประชาชนรวมทั้งเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตรอาจเข้าถึงได้โดยไม่ตั้งใจ และไม่สามารถควบคุมปริมาณกัญชาในส่วนประกอบที่บริโภคได้

3. ในระยะเร่งด่วน ระหว่างรอร่างกฎหมาย เสนอให้มีมาตรการควบคุมดังนี้

3.1 ให้มีมาตรการควบคุม การผลิต และขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม กำหนดให้มีเครื่องหมาย/ข้อความเตือนอย่างชัดเจน โดยระบุว่า “กัญชามีผลทำลายสมองเด็ก งดจำหน่ายให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร”

3.2 ห้ามโฆษณา จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายรวมถึงนำเด็กและเยาวชนมามีส่วนร่วม และจัดจำหน่าย

3.3 ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนเรื่องโทษของกัญชากับสมองเด็กและวัยรุ่น เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ว่ากัญชาเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจในระยะเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงกับชีวิตได้

4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และนำมาเปิดเผยสู่สาธารณชน

483 Views