ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้าน ที่ขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นผลให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นรักษาการนายกฯ แทนโดยอัตโนมัติ
ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมประจำสัปดาห์ โดยได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง หลังประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงหรือไม่
- มติเอกฉันท์ รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้ผู้ถูกร้อง (พล.อ. ประยุทธ์) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
- มติเสียงข้างมาก 5:4 ให้ผู้ถูกร้อง (พล.อ. ประยุทธ์) หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
มติของศาลรัฐธรรมนูญได้รับการเผยแพร่ผ่านเอกสารข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญช่วงบ่ายวันนี้ โดยไม่มีการเปิดแถลงข่าวแต่อย่างใด แม้ก่อนหน้านี้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งสื่อมวลชนว่า “จะมีการแถลงข่าวหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”
คำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่ยื่นผ่านประธานสภาส่งถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ 22 ส.ค. ซึ่งเป็นการขอให้ตีความว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสาม และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยฝ่ายค้านเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 นับจากได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 ส.ค. 2557
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามมาตรา 82 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ พล.อ. ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
พล.อ. ประวิตรขึ้นเป็นรักษาการนายกฯ อัตโนมัติ
ผลจากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ. ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ พล.อ. ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 ต้องทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ตามคำชี้แจงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่แจ้งแนวปฏิบัติเอาไว้ในที่ประชุม ครม. เมื่อ 23 ส.ค. และมาให้สัมภาษณ์เน้นย้ำอีกครั้งในวันนี้
“แต่หาก ครม. เห็นควรว่าเป็นคนอื่นมาทำหน้าที่ (รักษาการนายกฯ) ก็สามารถทำได้ โดย พล.อ. ประวิตรเองก็มีสิทธิปฏิเสธไม่รับหน้าที่รักษาการ เช่น พล.อ. ประวิตรหกล้ม ทำหน้าที่ไม่ได้ ก็ต้องเป็นคนอื่นมาทำหน้าที่แทน และส่วนตัวก็ไม่พร้อมทำหน้าที่เช่นกัน เพราะหนักกว่า พล.อ. ประวิตรอีก” นายวิษณุ ซึ่งเป็นรองนายกฯ ลำดับที่ 2 กล่าว
นายวิษณุกล่าวต่อว่า หากรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ยังมีรัฐมนตรีคนอื่นที่ทำหน้าที่แทน รวมถึง พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม ก็สิทธิรับหน้าที่รักษาการนายกฯ ได้ด้วย
ก่อนหน้านี้ ครม. มีมติเมื่อ 13 ส.ค. 2563 มอบหมายให้รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ ในกรณีที่นายกฯ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ โดยเรียงลำดับไว้ ดังนี้ 1. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2. นายวิษณุ เครืองาม 3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 5. นายดอน ปรมัตถ์วินัย 6. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุชี้แจงเพิ่มเติมว่า คำสั่งดังกล่าวจะไม่ใช้ในส่วนนี้ เนื่องจากขณะนี้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่มีหน้าที่เข้ามาเห็นชอบ พล.อ. ประวิตรมีอำนาจเต็ม ทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย รวมไปถึงการทูลเกล้าฯ กฎหมายลูก แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา และมีอำนาจในการรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก
ส่วน พล.อ. ประวิตรจะสามารถปรับ ครม. รวมถึงประกาศยุบสภาได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตามทฤษฎีต้องตอบว่าได้ แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ได้ทำคนเดียว ต้องไปเกี่ยวกับสถาบันฯ เหมือนที่บอกว่าศาลให้ พล.อ. ประยุทธ์พ้นรักษาการได้หรือไม่ ทฤษฎีตอบว่าได้ แต่ทางปฏิบัติก็อาจไม่รักษาการ ใครรักษาการระหว่างนั้น ทฤษฎีก็บอกว่ายุบสภาได้ แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันไม่สามารถทำเองได้คนเดียว อะไรที่เกี่ยวกับคนอื่นต้องถามคนอื่นด้วย
นายวิษณุเปิดเผยด้วยว่า เมื่อสักครู่ตนได้พูดคุยกับ พล.อ. ประยุทธ์ ท่านระบุว่า ระหว่างนี้จะไม่มาที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนรยบฯ จะไปปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงกลาโหม และในการประชุม ครม. ท่านก็สามารถเข้าประชุมในฐานะ รมว.กลาโหม
ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงผลกระทบต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ในเดือน พ.ย. ว่า อยู่ที่เงื่อนไขเวลา ถ้าคำวินิจฉัยออกมาชัดเจนก่อนเดือน พ.ย. ใครก็ตาม หรือ พล.อ. ประยุทธ์กลับมาปฏิบัติหน้าที่ ก็ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมเอเปค ส่วนถ้าเป็นรักษาการนายกฯ ก็ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ ดังนั้นถ้าเป็นไปตามกระบวนการภายใน ถูกต้องตามกฎหมาย และวิถีทาง ทุกอย่างก็เดินหน้าต่อ
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ. ประวิตร จะได้รับความเชื่อมั่นจากนานาชาติหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ไม่เห็นมีปัญหา และที่ผ่านมาเวลา พล.อ. ประวิตร เดินทางไปทำหน้าที่แทนนายกฯ หรือไปในนามรองนายกฯ ก็ได้รับการต้อนรับ ไม่มีปัญหาเรื่องความแตกต่าง
ส่วนตัวของนายดอนบอกว่า “ไม่รู้สึกตกใจ” เพราะทราบเรื่องนี้จากสื่อล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบใดก็ทราบล่วงหน้า และเมื่อวานนี้ที่ประชุม ครม. ก็รับทราบขั้นตอนต่าง ๆ