ปกติแล้วสหรัฐฯ มักจะถูกมองว่าเป็นเบอร์ 1 ในทุกๆ อย่าง ดังนั้นการถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Rating ลดอันดับลงเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ จากระดับสูงสุด AAA เป็น AA+ หลังจากถูก S&P Global Ratin ลดอันดับไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อน จึงสั่นคลอนความภาคภูมิใจของคนอเมริกันและสะเทือนระบบการเงินโลกไปพร้อมๆ กัน
การลดอันดับความน่าเชื่อถืของพันธบัตรสหรัฐฯ ลงมา 1 อันดับของ Fitch สะท้อนให้เห็น “การพังทลายของธรรมาภิบาล” ที่ “ปรากฏให้เห็นในการถกเถียงเรื่องการกำจัดเพดานหนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าและการแก้ปัญหาในนาทีสุดท้าย” เนื่องจากทุกๆ 2-3 ปีสหรัฐฯ มักจะมีปัญหาเรื่องแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ซึ่งเกิดจากนโยบายของตัวเองกฎหมายที่ตราขึ้นเมื่อปี 1917 บัญญัติจำกัดเพดานหนี้ไว้ ซึ่งจะเพิ่มได้ก็ต่อเมื่อสภาคองเกรสและประธานาธิบดีเห็นชอบเท่านั้น และกฎหมายนี้นี่เองที่ทำให้สหรัฐฯ สะดุดเมื่อช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากกู้เงินจนเกือบชนเพดานหนี้ และสภาคองเกรสก็ไม่สามารถตกลงเพิ่มเพดานหนี้ได้ จนกระทั่งไกล่เกลี่ยกันได้เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ถึงจะรอดจากการผิดนัดชำระหนี้มาได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ก็สร้างความไม่แน่นอนอีกครั้งเกี่ยวกับความรับผิดชอบของบรรดานักการเมืองที่จะหลีกเลี่ยงการถกเถียงกันและบรรลุเป้าหมายในการจ่ายหนี้
นอกจากนี้ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการคาดการณ์ของ Fitch การลงทุนของภาคธุรกิจที่อ่อนลง การบริโภคที่ชะลอตัว และเงื่อนไขการปปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดจะผลักดันให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแบบอ่อนๆ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2024
AA+ แปลว่าอะไร
AA+ ซึ่งอยู่ถัดลงมาจาก AAA หมายถึง สหรัฐฯ ไม่มีสิ่งที่ Fitch ให้นิยามไว้ว่า “มีความน่าเชื่อถือสูงสุด” โดย Fitch บอกว่า AA หมายถึง “ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก” ส่วน AAA หมายถึง “ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำที่สุด” โดยอันดับ AAA จะให้ในกรณีที่ “มีความสามารถสูงมาก” ในการรับผิดชอบภาระผูกพันทางการเงิน ขณะที่ AA บ่งชี้ว่าผู้กู้ยืม “มีความสามารถสูง” ในการชำระหนี้
พันธบัตรรัฐบาลถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างไร
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะประเมินความแข็งแกร่งทางการเงินของผู้ออกพันธบัตร รวมทั้งรัฐบาล แล้วให้คะแนนความน่าเชื่อถือเพื่อจัดอันดับความสามารถในการชำระหนี้ บรรดานักลงทุนจะพึ่งพาอันดับความน่าเชื่อถือนี้ในการซื้อพันธบัตร และการประเมินนี้เป็นกุญแจสำคัญในการพิจารณาว่าผู้ออกพันธบัตรควรให้ดอกเบี้ยเท่าไรเพื่อระดมเงินในตลาดทุน
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เผยหลังถูกลดอันดับว่า ความเคลื่นไหวดังกล่าวเป็น “การตัดสินใจโดยพลการและอิงจากข้อมูลที่ล้าสมัย” และจะไม่เปลี่ยนมุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯ โดยผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 30 ปีทะยานขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงเกือบ 9 เดือนก่อนที่จะถูกหั่นเครดิต นื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมออกพันธบัตรเพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ