สตาร์บัคส์ได้รับคำฟ้องจากผู้พิพากษารัฐแมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา รวมแล้วกว่า 11 ข้อ เนื่องจาก ‘เมนูน้ำผลไม้ Refreshers’ ประกอบด้วย Mango Dragon Fruit, Mango Dragon Fruit Lemonade, Pineapple Passionfruit, Pineapple Passion Fruit Lemonade, Strawberry Acai และ Strawberry Acai Lemonade แต่กลับกลายเป็นว่าเครื่องดื่มที่ลูกค้าได้รับไม่มีส่วนผสมของมะม่วง เสาวรส และอาซาอิ ในเครื่องดื่มตามชื่อที่โฆษณา
โจแอน โคมินิส (Joan Kominis) ผู้ฟ้องร้องจากเมืองแอสโตเรีย รัฐนิวยอร์ก และเจสัน แมคแอลลิสเตอร์ (Jason McAllister) จากเมืองแฟร์ฟิลด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ‘เมนูน้ำผลไม้ Refreshers’ มีส่วนผสมหลัก คือ น้ำ น้ำผลไม้ที่เข้มข้น และน้ำตาล ซึ่งหากการตั้งชื่อเมนูด้วยชื่อผลไม้ชนิดต่างๆ เป็นเพียงการอธิบายถึงรสชาติของเครื่องดื่มไม่ใช่ส่วนผสม จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เมนูนั้นๆ มีส่วนประกอบที่เป็นผลไม้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าสตาร์บัคส์อาจเรียกเก็บเงินเกินจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐ
ก่อนหน้านี้โคมินิสเคยฟ้องร้องสตาร์บัคส์ในคดีดังกล่าว แต่สตาร์บัคส์ขอให้ยกฟ้องคดีนี้โดยโต้แย้งในส่วนหนึ่งว่า “ไม่มีผู้บริโภคที่สมเหตุสมผลคนใดจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับชื่อผลิตภัณฑ์” โดยชื่อเครื่องดื่มเป็นการอธิบายถึงรสชาติมากกว่าส่วนผสม ซึ่งลูกค้าจะได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนถึงส่วนผสมต่างๆ จากบาริสต้า
อย่างไรก็ตาม จอห์น โครแนน (John P. Cronan) ผู้พิพากษาเขตแมนฮัตตันของสหรัฐอเมริกา ปฏิเสธคำขอของ Starbucks และกล่าวว่า “การตั้งชื่อมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภค” เพราะเครื่องดื่มประเภทอื่นที่ระบุชื่อส่วนผสมก็จะมีส่วนผสมนั้นอยู่ด้วย จึงสมเหตุสมผลที่จะถือว่า เมนู Refreshers มีผลไม้อยู่ในแก้วด้วย โดยโครแนนยกฟ้องเพียงสองข้อ ได้แก่ ข้อเรียกร้องการฉ้อโกง ที่กล่าวหาว่า Starbucks มีเจตนาฉ้อโกงผู้บริโภค และการเรียกร้องคุณค่าที่ไม่ยุติธรรม