ประธานสภาอุตสาหกรรมมั่นใจ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทต้องเกิด เพราะเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจำเป็นต้องทำเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ แม้จะล่าช้ากว่าแผน ขณะเดียวกันภาคเอกชนยังคงเกาะติดสงครามอิสราเอลและฮามาส แม้ไม่กระทบไทยโดยตรง แต่หวั่นบานปลายอาจกระทบราคาน้ำมันซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก พร้อมเผยผลการพบปะนักธุรกิจจีนหลังร่วมคณะนายกรัฐมนตรีประชุม Belt and Road มีลุ้นทุนจีนปักหมุดลงทุน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้ EV, พลังงานสะอาด, ดิจิทัล, Green และสิ่งแวดล้อม

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรณีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทที่รัฐบาลอาจต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นั้นมองว่า รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ พร้อมรับฟังทุกเสียงสะท้อนไปปรับปรุงแก้ไข และตอบคำถามทุกคนให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มาของเงินที่หลายฝ่ายกังวลและการวางกรอบให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 56 ล้านคนที่อาจต้องใช้งบประมาณมากถึง 5.6 แสนล้านบาท จะมีการปรับแก้ไขอย่างไรหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ทั่วโลกรวมทั้งไทยดำเนินการมาตลอด แต่ครั้งนี้มีความพิเศษ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไทยจะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตรวจสอบความแม่นยำ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

“ผมมองว่าการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องทำ ในภาวะที่ขณะนี้กำลังซื้อลดลง ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2566 ลดลงอยู่ที่ระดับ 90.0 ซึ่งปรับตัวลดลงจาก 91.3 ในเดือนสิงหาคม นับเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

หากถามว่าโครงการนี้ล่าช้าไปจะมีผลหรือไม่ เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากนัก แต่เนื่องจากเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นายกรัฐมนตรีต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งในฐานะของผู้ประกอบการและการรับฟังจากเสียงสะท้อนนักธุรกิจด้วยกัน คิดว่ารัฐบาลน่าจะมีวิธีในการหาแหล่งเงินที่ถูกกฎหมายและชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านโยบายนี้จะต้องเกิดอย่างแน่นอน” เกรียงไกรกล่าว

กังวลเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อเนื่อง 3 เดือน เป็นผลมาจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวจากกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและรายได้ภาคเกษตรที่ลดลง ขณะที่อุปสงค์จากประเทศคู่ค้าชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ชะลอตัวลงจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจในภูมิภาค และการอ่อนค่าของเงินบาทเนื่องจากเงินทุนไหลออกจากประเทศในช่วงที่ผ่านมา จากความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น

รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้า รวมถึงกระทบต่อวัตถุดิบสินค้าเกษตร แม้ว่าในเดือนนี้มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการรัฐช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ทั้งการลดราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และปรับลดค่าไฟฟ้าจาก 4.45 เป็น 3.99 บาทต่อหน่วย

ห่วงสงครามอิสราเอล-ฮามาสยืดเยื้อ

ขณะเดียวกันสถานการณ์สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยตรง เนื่องจากการค้าขายโดยตรงระหว่างไทยกับอิสราเอลมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบสัดส่วนกับประเทศอื่นซึ่งถือว่าน้อยมาก อาจได้รับผลกระทบสั้นๆ เล็กน้อย

“แต่ผลกระทบทางจิตวิทยาคาดว่าจะกระทบราคาน้ำมัน เนื่องจากอิสราเอลอยู่ในพื้นที่ตะวันออกกลาง หากกรณีไม่บานปลายอาจมีผลกดดันราคาน้ำมันบ้าง ประกอบกับเป็นช่วงใกล้ฤดูหนาว ราคาน้ำมันจึงขยับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เชื่อว่าคงไม่ทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากสถานการณ์บานปลายและมีการโจมตีภาคพื้นดิน หรือมีกองกำลังจากประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย อาจทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ก็อาจจะส่งผลกระทบมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป”

เผยนายกฯ เยือนจีน ลุ้นลงทุน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

เกรียงไกรระบุอีกว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาภาคเอกชนมีโอกาสเดินทางไปจีนกับคณะนายกรัฐมนตรี เพื่อพบปะนักธุรกิจจีนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีและมีนักธุรกิจหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ EV

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะเห็นว่านอกจากตัวเลข FDI จีนเข้ามาไทยเป็นอันดับหนึ่งแล้ว ในอนาคตคาดว่าจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่ได้รับฟังนโยบายอุตสาหกรรมของจีนที่กำหนดว่าภายในปี 2025 จีนจะมีการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ซึ่งแน่นอนว่าล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ตรงกับทิศทางของภาคอุตสาหกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์สมัยใหม่, พลังงานสะอาด, ดิจิทัล, Green และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างประเทศที่กำลังประกอบกิจการในประเทศไทยจำนวนมาก และผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับภาคการผลิต ซึ่งมีความสำคัญต่อ ส.อ.ท.

“ประเทศไทยโดยรัฐบาลต้องใช้โอกาสนี้เร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านนี้ เพราะสัญญาณที่น่าสนใจตอนนี้คือ บริษัทระดับโลกกำลังมองหาฐานผลิตในอาเซียน” เกรียงไกรกล่าว

ดังนั้นนโยบาย ONE FTI จะช่วยเปิดรับนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Gen Industries) ร่วมกันมากขึ้น ซึ่งล่าสุดมีการจัดตั้ง Foreign Industrial Club (FIC) ที่เป็นเสมือนเวทีการหารือของภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ เพื่อลงทุนระหว่างกันต่อไป

3 ข้อเสนอเร่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจ

เกรียงไกรกล่าวทิ้งท้ายว่า เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 ยังคงต้องจับตา เช่น ภาวะเศรษฐกิจชะลอที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงขอเสนอแนวทางกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมถึงรัฐบาล ดังนี้

– เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน ดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลง เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ประกอบการ รวมถึงเร่งรัดการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยเร็ว

– สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกรมศุลกากร เข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพจากต่างประเทศ

– สนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินคืนในระบบ Net Metering และสนับสนุนให้มีการซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy) เพื่อรองรับความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

364 Views