ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 มีมติเป็น “เอกฉันท์” ให้ตัดงบจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำของกองทัพเรือ ออกจากงบปีหน้า ภายหลังนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณชัดเจนว่าให้นำงบไปดูแลปัญหาปากท้องประชาชนก่อน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากสังคม
ในระหว่างการประชุม กมธ.งบประมาณ 2564 ช่วงบ่ายวันนี้ 31 สิหาคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ ประธาน กมธ.งบประมาณ 2564 แจ้งต่อที่ประชุมว่า ทหารเรือ ได้ทำหนังสือถึง กมธ. ชี้แจงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายจนนำไปสู่ความมั่นใจ จึงขอเลื่อนการชำระเงินออกไป โดยยอมให้ตัดลดงบประมาณจำนวน 3,925 ล้านบาทออกจากงบปี 2564
หลังจากนี้ ทหารเรือและกระทรวงกลาโหมจะไปเจรจากับประเทศผู้ผลิตว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรในการที่จะให้ประเทศไทยมีเรือดำน้ำตามความประสงค์ “สรุปคือปีนี้เลื่อนงบประมาณก้อนแรกในการที่จะไปจ่าย” นายสันติระบุ อย่างไรก็ตามประธาน กมธ.งบประมาณ 2564 อ้างว่า จากการสอบถามและพูดคุยกับ กมธ. ต่างมีความเห็นตรงกันว่ากรณีเรือดำน้ำมีความจำเป็น และจำนวน 3 ลำนั้นก็น้อยเกินไปด้วยซ้ำ เนื่องจากไทยมีทะเลอยู่ 2 ฝั่งซึ่งมีพื้นที่ติดกับทะเลหลายพันกิโลเมตร และไกลออกไปก็มีพื้นที่ทับซ้อนด้านความมั่นคง ภายหลัง กมธ. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลากหลาย ในที่สุดที่ประชุมมีมติเป็น “เอกฉันท์” ด้วยคะแนนเสียง 63 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง ให้ชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ
โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงินรวม 22,500 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหาเรือดำน้ำของทหารเรือ รวม 3 ลำ มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาท โดย ทร. ได้จัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกไปเมื่อปี 2560 และจะเข้าประจำการในปี 2566 หลังทยอยชำระเงินในปี 2560-2566 ส่วนอีก 2 ลำ มีแผนทยอยชำระปี 2564-2570 หลังถูกเรียกงบปี 2563 คืนไป 3,375 ล้านบาทเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาโควิด-19 มาถึงปีงบประมาณ 2564 จึงขอตั้งงบเท่าเดิมที่ 3,375 ล้านบาท
เอกสารของทหารเรือที่แจ้งต่อประธาน กมธ.งบประมาณระบุตอนหนึ่งว่า “ขอปรับลดงบประมาณในการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ทั้งหมด คงเหลืองบประมาณในปี พ.ศ. 2564 จำนวน 0 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ”
พลเรือโท ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารเรือ ให้ส่งหนังสือถึงประธาน กมธ.งบประมาณ 2564 ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้การปรับลดงบประมาณครั้งนี้ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผนงานของทหารเรือ และส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม แต่ทหารเรือตระหนักถึงความจำเป็นตามสถานการณ์ของประเทศ และเห็นว่าการเลื่อนจัดซื้อเรือดำน้ำ มีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จึงยอมปรับลดงบประมาณ
ก่อน กมธ.งบประมาณปี 2564 จะมีมติกรณีนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เปิดเผยแนวทางการตัดสินใจต่อสาธารณะผ่านถ้อยแถลงของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
“พลเอก ประยุทธ์ ได้มีการพูดคุยเป็นการภายในกับกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะกองทัพเรือ ได้ข้อสรุปว่าขอให้กองทัพเรือพิจารณาชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำในลำที่ 2 และ 3 ไปก่อน เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความเข้าใจของนายกฯ ที่เห็นถึงความห่วงใยของประชาชน สังคม และ กมธ. ที่จะต้องนำงบประมาณไปใช้ในส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลปากท้องประชาชน และเรื่องอื่น ๆ ที่คิดว่าเหมาะสม” นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงที่ทำเนียบรัฐบาล
ส่วนการเจรจากับทางจีนเพิ่มเติมในการจะชะลอหรือเลื่อนการจัดซื้อไปอีก 1 ปี จะมีผลออกมาอย่างไร ทางทหารเรือจะเป็นผู้ให้รายละเอียดเรื่องนี้ ทั้งนี้โฆษกประจำสำนักนายกฯ อยากให้ประชาชนเข้าใจบทบาทของกองทัพที่ต้องการดูแลประชาชน และทรัพยากรของประเทศไทยให้ดีที่สุด และรัฐบาลจะพยายามดูแลทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง เพื่อให้ทั้งหมดมีความสอดคล้อง ประชาชนมีความสบายใจเกี่ยวกับการบริหารราชการของรัฐบาลว่าเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม
นายเอกชัยยืนยันด้วยว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น เป็นการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐจีทูจี ดำเนินการมาตั้งแต่การจัดซื้อลำที่ 1 แล้ว ส่วนลำที่ 2 และ 3 เป็นเรื่องที่จะมีการส่งมอบต่อเนื่องเท่านั้นเอง
เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดหาเรือดำนำของทหารเรือถูกจุดประเด็นโดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สส มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานอนุ กมธ. ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน โดยเขาได้ออกมาเปิดเผยเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการจัดทำสัญญาซื้อเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐ หรือ “จีทูจีเก๊” พร้อมวิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ
เขายังเป็นผู้เปิดเผยมติอนุ กมธ. เมื่อ 24 สิงหาคม ที่ออกมาแบบเฉียดฉิว 5-4 ให้เดินหน้าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำต่อไป โดยอ้างว่านายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานอนุ กมธ. ครุภัณฑ์ฯ ได้ร่วมลงมติชี้ขาดหลังได้รับโทรศัพท์จาก “นายพล” รายหนึ่ง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง ร้อนถึงนายสุพลต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวปฏิเสธใบสั่งผ่านสายโทรศัพท์
เช่นเดียวกับนายพลสังกัดทหารเรือที่แถลงตอบโต้พรรคฝ่ายค้านให้หยุดเล่นการเมืองแบบเก่า ๆ และขอ “อย่านำกองทัพเรือไปสร้างความเกลียดชังอย่างผิด ๆ” และ “จีทูจีปลอมคือการกล่าวเท็จ ให้ข้อมูลผิด ครม. อนุมัติให้ ผบ ทหารเรือเป็นผู้แทนของไทยไปลงนาม”