ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งมีนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นผู้ปราศรัย เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัยเมื่อเวลา 15.05 น. วันนี้ (10 พ.ย.) และสิ้นสุดลงในเวลา 15.53 น.

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ถูกร้อง 1 (อานนท์ นำภา) ผู้ถูกร้องที่ 2 (ภาณุพงศ์ จาดนอก) และผู้ถูกร้องที่ 3 (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เป็นการอ้างสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงหลักเสมอภาค และภราดรภาพ

ตุลาการระบุด้วยว่า การกระทำผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน มีการตั้งเป็นกลุ่มเครือข่าย และยังมีส่วนในการจุดประกายให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกในบ้างเมือง เป็นการทำลายหลัก ภราดรภาพ นำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“การออกมาเรียกร้องโจมตีในสาธารณะ โดยอ้างการใช้สิทธิเสรีตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีทีไม่ถูกต้อง ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ,สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญระบุด้วยว่า ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ในเวทีการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 กระทบต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์

“การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1,2,3 เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1”

ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีคำสั่ง ให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 และกลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านสรุปสาระของการปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน ก่อนอ่านคำวินิจฉัยว่า การเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วย “พระราชฐานะ” ของกษัตริย์ ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมือง ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามเข้าไปล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ จะส่งผลกระทบต่อ “สถานะ”ของสถาบันฯ และนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในที่สุด

“… การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะเกินควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขในที่สุด”

ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องกรณีนี้ไว้พิจารณาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563 หรือกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรับคำร้องหลังการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมภายใต้ชื่อการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เกิดขึ้นในเดือน ส.ค.

การชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อ 10 ส.ค. 2563 มีการปราศรัยเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งการเสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ซึ่งต่อมาเหตุการณ์นั้นถูกเรียกในหมู่ผู้ชุมนุมว่า “ปรากฏการณ์ทะลุเพดาน”

นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ18 ส.ค. 2563 เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายอานนท์ นายภาณุพงศ์ และ น.ส. ปนัสยา ในการปราศรัยเสนอข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่และมีคำสั่งให้บุคคลทั้งสามเลิกการกระทำดังกล่าว

นายณฐพร ยังเคยเป็นผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดีอิลลูมินาติ ทว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติยกคำร้องไปเมื่อเดือน ม.ค. 2563

ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ถูกอ่านในประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 โดย น.ส.ปนัสยา มีเนื้อหาเช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

การอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกประกาศให้อาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย อันเป็นมาตรการความปลอดภัยเช่นเดียวกับในการอ่านคำวินิจฉัยคดีทางการเมืองสำคัญหลาย ๆ คดีที่ผ่านมาในอดีต

ขณะนี้นายอานนท์ นายภาณุพงศ์และ น.ส. ปนัสยา ต่างตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในหลายคดี รวมทั้งคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยนายอานนท์และนายภาณุพงศ์กำลังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ส่วน น.ส.ปนัสยาได้รับการประกันตัวชั่วคราว

ผู้ถูกร้อง-ทนาย เดินออกจากห้องพิจารณา หลังศาลไม่เปิดไต่สวนเพิ่ม

เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ขึ้นบัลลังก์แล้ว ก่อนอ่านคำวินิจฉัย นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ผู้รับมอบอำนาจของนายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้แถลงต่อศาลว่า ได้รับมอบจากนายอานนท์ว่า หากไม่มีการเปิดไต่สวนก่อนมีคำวินิจฉัย หากศาลไม่ให้ไต่สวนให้เดินออกจากห้องพิจารณา โดยนายกฤษฎางค์ กล่าวว่าคดีนี้เป็นคดีใหญ่ ที่คำตัดสินไม่เพียงส่งผลกระทบแค่ 4 คน แต่ส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศ จึงขอให้มีโอกาสแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยในที่นี้มีนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักประวัติศาสตร์ ปัญญาชนสยาม มาเป็นพยานหากว่ามีการไต่สวนด้วย

“เขา (อานนท์) ไม่อยากมีตัวแทนฟังคำวินิจฉัยที่เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการ” ทนายกฤษฎางค์ กล่าว

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตอบกลับว่า “เดี๋ยวศาลจะบันทึกไว้” ว่าผู้รับมอบฉันทะของนายอานนท์ นำภา เข้ามาอยู่ในห้องพิจารณาแล้วออกไป

หลังจากนั้นนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความผู้รับมอบฉันทะจากนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ได้แถลงในจุดประสงค์เดียวกัน รวมทั้ง น.ส.ปนัสยา ที่แสดงเจตนารมย์ว่าต้องการให้มีการไต่สวนเพิ่มเติมก่อนศาลอ่านคำวินิจฉัย

“ทนายพวกเรา เคยได้มีการขอให้ไต่สวนเพิ่มไปแล้ว หนูไม่ใช่นักเรียนกฎหมาย หนูอาจจะรู้น้อย แต่อย่างน้อยศาลควรจะได้รับฟังทุกอย่างเท่าที่รับฟังได้” น.ส.ปนัสยา หรือรุ้งกล่าว ก่อนออกจากห้องพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวสรุปว่า ศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงทุกอย่าง เอกสารทุกอย่างที่ได้มาได้ส่งให้ฝ่ายผู้ถูกร้องหมดแล้ว ซึ่งมีการส่งผ่านทนายมาเป็นหนังสือ ถือว่าได้ให้ความเป็นธรรมและความยุติธรรมแก่ผู้ถูกร้องครบถ้วน และอีกทั้งเป็นการพิจารณาระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหา ซึงที่ผ่านมาในการไต่สวน ศาลได้ให้โอกาส ผู้ถูกร้องโต้แย้งทุกอย่างหมดแล้ว

“พระมหากษัตริย์กับชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน”

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยที่ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทย ว่า “พระมหากษัตริย์กับชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และจะดำรงอยู่ร่วมกันต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทย เห็นพ้องต้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสถาบันหลักคู่ชาติไทย และถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้”

หลังจากนั้น ได้อ้างอิงรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ตั้งแต่ พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแห่งแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 โดยยกเนื้อหามาประกอบด้วยว่า มาตรา 1 บัญญัติว่า อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย มาตรา 2 บัญญัติว่า ให้มีบุคคลและคณะบุคคลใช้อำนาจแทนราษฎร ได้แก่ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล มาตรา 3 บัญญัติว่า กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ

“เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การปกครองของไทยอำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับแต่ กรุงสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์”

ตุลาการรัฐธรรมนูญ กล่าวต่อด้วยว่า ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเมื่อปี 2475 คณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลง และประชาชนชาวไทยจึงเห็นพ้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์เพื่อทรงเป็นสถาบันหลักที่ต้องดำรงอยู่กับการปกครองที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและราชอาณาจักรได้คงไว้ซึ่งการปกครองแบบนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอด

“ทำนองเดียวกับประเทศต่าง ๆ ที่มีความเป็นมาของชาติ และเอกราชแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่ง คือ เอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของชาติ รวมถึงทรัพย์สมบัติของชาติ จะมีกฎหมายห้ามกระทำการให้มีมลทินหรือเสื่อมชำรุด” ก่อนระบุในความถัดไปว่า “ข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองการให้พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาล่วงละเมิดไม่ได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันกษัตริย์โดยชัดแจ้ง…”

“เจตนาซ่อนเร้นล้มล้าง….มิใช่เป็นการปฏิรูป”

ตุลาการรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า ระบอบประชาธิปไตย ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ เสรีภาพ ทุกคนมีสิทธิคิด พูด และทำอะไรได้ตามที่ไม่มีกฎหมายห้าม เสมอภาค ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และภราดรภาพ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างพี่น้อง มีความสามัคคีกัน

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า การปกครองรูปแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชาวชาวมีความผูกพันกับสถาบันฯ มาหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทยให้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ผ่านทางรัฐสภา และศาล ดังนั้น สถาบันฯ จึงเป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การกระทำใด ๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือทำให้สถาบันกษัตริย์สิ้นสลายไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีการพูดวิธีการเขียน หรือการกระทำการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลในทางบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือการปลุกระดม ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

ศาลชี้ว่า “การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้อง 1,2, 3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1,2,3 เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักความเสมอภาค และภราดรภาพ ผู้ถูกร้องที่ 1,2,3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตน และละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนต่อความเป็นจริง”

นอกจากนี้ยังมีการกระทำที่ตั้งเป็นกลุ่มเครือข่าย ที่มีส่วนจุดประกายให้เกิดความรุนแรง ความแตกแยกในบ้านเมือง เป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ

ศาลรัฐธรรมนูญ ยังวินิจฉัยการแสดงออกในการชุมนุมบางเหตุการณ์ รวมถึงบางส่วนของข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ที่ปรากฏในการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ว่ามีเจตนาซ่อนเร้นการล้มล้างการปกครอง ไม่ใช่การปฏิรูป

“ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากัษตริย์ การแสดงออกโดยลบสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ของผู้ถูกร้อง เช่น การยกเลิกมาตรา 6 การห้ามฟ้องร้องกษัตริย์ การยกเลิกการรับบริจาค โดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่กระทบสถานะของสถาบันกษัตริย์ ที่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติตลอดมา พฤติกรรมและเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1,2,3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของ ผู้ถูกร้องที่ 1,2,3 ว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1,2,3 มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป”

รุ้ง ยืนยันการยกเลิก ม.112 ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยแล้วเสร็จ ภายนอกอาคารศูนย์ราชการซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งหลักฟังคำวินิจฉัย น.ส. ปนัสยา ได้ย้ำว่าข้อเสนอปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้ง 10 ข้อ ล้วนเป็นการเสนอด้วยเจตนาสุจริตที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีความชอบธรรมและสามารถดำเนินอยู่ได้อย่างสง่างามตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

น.ส. ปนัสยา และนายกฤษฎางค์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หารือกันหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีนี้

ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ,น.ส. ปนัสยา และนายกฤษฎางค์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หารือกันหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีนี้

“ในส่วนการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า การผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ย่อมเป็นไปเพื่อให้การส่งเสียงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นกัลยาณมิตร สามารถเป็นไปได้” เธอกล่าว

น.ส. ปนัสยากล่าวย้ำอีกว่า การยกเลิกมาตรา 112 เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุว่าประชาชนอันเป็นแหล่งที่มาของประชาธิปไตย ย่อมเป็นผู้ทรงอำนาจในการสถาปนาและแก้กฎหมายทั้งปวง ตามมาตรา 133 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เธอกล่าวต่อสื่อมวลชนยังยืนยันเดินทางรวบรวมรายชื่อในการผลักดันให้ยกเลิกมาตรา 112 ต่อไป จนกว่าข้อเรียกร้องจะสำเร็จ

ทนายฝ่ายผู้ถูกร้องผิดหวังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ขอส่งสัญญาณไปยังนักกฎหมายระดับชาติ ตุลาการทุกศาลว่าคำสั่ง คำวินิจฉัยนี้ทุกคนเห็นอย่างไรในทางวิชาการ ย้ำว่ามาตรา 49 สั่งให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามผู้ถูกร้องไปดำเนินการใด ๆ ที่ถูกกล่าวหาไม่ใช่สั่งห้ามให้กระทำการแบบนี้อีกครั้งต่อไปในข้างหน้า และรวมทั้งไม่ได้ห้ามผู้ที่ไม่ถูกกล่าวหาในคดีด้วย

“ผมผิดหวังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่คำตัดสินมาแล้วฝ่ายเราแพ้ ผิดหวังว่าทำไมถึงสั่งมาแบบนี้ ผมคิดว่าข้อวินิจฉัยนี้สังคมควรจะตรวจสอบ นานาชาติควรจะตรวจสอบ และควรมีคำตัดสินจากศาลใดศาลหนึ่งว่า มีผลบังคับไม่ได้”

ทีมทนายเชื่อว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญของไทย ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จริงอยู่ว่ามีผลผูกพันทุกองค์กร คณะรัฐมนตรี ศาล สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และองค์กรอิสระ แต่ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญถึงจะมีผลบังคับได้ หากไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็บังคับไม่ได้

นายกฤษฎางค์ยอมรับว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้การทำงานตามกระบวนการทางกฎหมายของกลุ่มผู้ถูกกล่าวหายากลำบากมากขึ้น แต่จะขอศึกษารายละเอียดในคำวินิจฉัยดังกล่าว

ล้มล้างหรือไม่ล้มล้าง

นายณฐพรให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในเวลา 15.00 น. วันนี้ว่า เขามั่นใจในหลักฐานที่ยื่นต่อศาลว่ามีความละเอียด มีน้ำหนักและชัดเจนเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าผู้ปราศรัยทั้ง 3 คน มีการกระทำเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

หลักฐานที่นายณฐพรกล่าวถึงคือเอกสารจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เขาบอกว่ามีข้อมูลอย่างละเอียดว่าทั้ง 3 คน ไปชุมนุมที่ไหน เมื่อไหร่และมีพฤติกรรมอย่างไร

นายณฐพร โตประยูร

ที่มาของภาพ,WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดินที่ผันตัวเองมาเป็น “นักร้องการเมือง”

“ในคดีก่อน ๆ เรามีแต่หลักฐานจากสื่อมวลชน ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ แต่คดีนี้เรามีหลักฐานจากการสืบสวนของทางราชการ โดยเฉพาะข้อมูลจาก (ตำรวจ) สันติบาลที่เราทำเรื่องขอไป ซึ่งไม่ได้ของ่าย ๆ นะครับ ต้องทำเรื่องขอสำนักนายกรัฐมนตรี” นายณฐพรกล่าวกับบีบีซีไทย

เดือน ก.ย. 2563 หรือราว 1 เดือนหลังจากยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายณฐพรได้ทำหนังสือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอพยานหลักฐานจากส่วนราชการมาประกอบคำร้อง ซึ่งในเวลาไม่นานนัก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ทำหนังสือ “ด่วนที่สุด” ตอบกลับนายณฐพรว่านายกฯ พิจารณาแล้ว และมีบัญชาให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บช.ส. และ สมช. ดำเนินการต่อไป

นายณฐพรวิเคราะห์ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้น่าจะมีเพียง 2 แนวทาง คือ การกระทำของนายอานนท์ นายภาณุพงศ์ และน.ส.ปนัสยา เข้าข่ายล้มล้างหรือไม่ล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งซึ่งระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้”

นายณฐพรกล่าวต่อไปว่า หากศาลวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ก็จะเป็นฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีอาญากับทั้ง 3 คน รวมทั้งผู้สมรู้ร่วมคิดและผู้สนับสนุนคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง พรรคการเมืองหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย

แต่หากศาลวินิจฉัยว่าพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่ถึงขั้นล้มล้างการปกครอง คดีก็จบไป และเขาพร้อมรับคำวินิจฉัย

เขายังยืนยันด้วยว่า “ไม่อยากให้เด็ก ๆ เหล่านี้มีคดีติดตัว” แต่ต้องการเอาผิดคนที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่มากกว่า

อานนท์ นำภา

ที่มาของภาพ,PATIPAT JANTHONG/THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ,10 ส.ค. 2563 อานนท์ นำภา ปราศรัยเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นครั้งที่ 2 ต่อจากการปราศรัยครั้งแรกในที่ชุมนุม “แฮร์รีพอตเตอร์ เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” ทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563

เชื่อมีผลต่อคดียุบพรรคก้าวไกล

นอกจากจะเป็นผู้ร้องในคดีนี้แล้ว นายณฐพรยังเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้พิจารณาวินิจฉัยและเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จากการกระทำ ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ส่วนหนึ่งของคำร้องได้อ้างถึงการที่หัวหน้าพรรคและ ส.ส.พรรคก้าวไกลออกมาเคลื่อนไหว แสดงความเห็นทางการเมือง เข้าร่วมกับผู้ชุมนุมและใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องหาในคดีชุมนุมทางการเมืองที่มีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายและจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์

ล่าสุด แหล่งข่าวจากพรรคก้าวไกลระบุว่ากรรมการรวบรวมของเท็จจริงและพยานหลักฐานของ กกต.ได้มีคำสั่งเรียกให้ ส.ส.ของพรรครวม 13 คน ไปให้ถ้อยคำก่อนที่กรรมการจะสรุปสำนวนและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ขณะที่ พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. บอกกับบีบีซีไทยว่ากรรมการของ กกต. อยู่ระหว่างการสอบสวนคำร้องและจะสรุปสำนวนได้ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด

นายณฐพรวิเคราะห์ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้จะมีผลต่อคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลที่เขายื่นคำร้องต่อ กกต. กล่าวคือถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการล้มล้างการปกครอง กกต. ก็น่าจะต้องสรุปสำนวนว่าการสนับสนุนผู้ชุมนุมของ ส.ส. และผู้บริหารพรรคก้าวไกลก็ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเช่นกัน

ทั้งนี้มีรายงานว่าพรรคก้าวไกลจะมีการแถลงท่าทีหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยช่วงบ่ายวันนี้

คำบรรยายวิดีโอ,ฟังพี่สาว ‘รุ้ง-ปนัสยา’ เล่าเรื่องน้องคนเล็กซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ

ลำดับเหตุการณ์คดี “ชุมนุม 10 สิงหา” ล้มล้างการปกครองฯ

3 ส.ค. 2563 นายอานนท์ นำภา ปราศรัยในประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการแก้ปัญหาการขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ต่อสาธารณะครั้งแรก ในการชุมนุม “แฮร์รี พอตเตอร์ เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 3 ส.ค. 2563

10 ส.ค. 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ขึ้นเวทีปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบัน โดย น.ส. ปนัสยาหรือ “รุ้ง” เป็นผู้อ่านข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อแก้ปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์

18 ส.ค. 2563 นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่าคณะบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ที่จัดการชุมนุมปราศรัยจำนวน 6 ครั้งคือในวันที่ 3, 9, 10, 20, 21 และ 30 ส.ค. เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำดังกล่าว

16 ก.ย. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับพิจารณาคำร้องของนายณฐพรไว้พิจารณาวินิจฉัย

10 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย

359 Views