[responsivevoice voice=”Thai Female” buttontext=”ฟังข่าว 6 นาที”]


ตัวอย่างที่ดีของการเรียนรู้ที่ไม่มีสิ้นสุด แม้อายุ 50 ไม่เคยเป็นล่ามอาชีพมาก่อน แต่หญิงไทยใช้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษเตรียมตัว 2 เดือนสอบผ่านล่ามศาล ภายใน 2 ปี สอบผ่านการอบรมมากมาย ได้ใบรับรองถึง 12 ใบ เป็นล่ามไทยที่ได้การรับรองคนแรกในศาลรัฐแอริโซนา สหรัฐฯ ช่วยคนไทยสื่อสารในกระบวนการทางกฎหมาย

คนเรามีศักยภาพอีกเยอะ ถ้ากล้าก้าวออกจาก comfort zone เชื่อและศรัทธาในตัวเอง พร้อมเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ก็จะพบความสุขและความสำเร็จในชีวิต เฉกเช่น คุณจิระอนงค์ แมนโซ หรือ โอ๊ะ ซึ่งเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลาง ค่อนไปทางจน ในกรุงเทพฯ และย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกากับสามีตั้งแต่ปี 2548 ได้วางแผนชีวิตจะเกษียณเมื่ออายุ 50 แต่กลับเริ่มต้นอาชีพใหม่ คือ “ล่ามศาล” ที่รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นล่ามอาชีพมาก่อน

: จุดเริ่มต้น ล่ามไทยในศาลสหรัฐฯ :

ก่อนตัดสินใจเป็น “ล่ามศาล” คุณจิระอนงค์มีพื้นฐานการเป็นนักแปลเอกสาร (translator) เกี่ยวกับการตลาดและเอกสารธุรกิจ เช่น สัญญา นโยบาย โดยรับงานผ่านบริษัทเอเจนซี่มากว่า 15 ปี ถูกชักชวนมาทำงานล่ามศาลหลายครั้ง แต่ปฏิเสธทุกครั้ง เนื่องจากกลัว ไม่มั่นใจ ไม่กล้าทำ และคิดว่าปล่อยให้คนเก่งๆ กว่าทำจะดีกว่า หากแปลผิด คนติดคุกจะเกิดเป็นบาปในใจ

กระทั่ง พ.ศ.2560 ย้ายมาอยู่รัฐแอริโซนาก็ยังถูกชักชวนอีก จึงหาข้อมูลพบว่า ศาลรัฐแอริโซนา และอีกหลายรัฐ ขาดแคลน “ล่ามภาษาไทย” ยังไม่มีใครสอบผ่านได้วุฒิบัตรรับรองจากศาล จึงรู้สึกเห็นใจภาครัฐ ห่วงใยคนไทยที่ไม่มีล่ามที่มีมาตรฐาน จึงอยากช่วยให้คนไทยมีล่ามที่มีคุณภาพตามศาลกำหนด เลยตัดสินใจสมัครสอบ

คุณสมบัติผู้สอบล่าม คุณจิระอนงค์ให้ข้อมูลว่า ไม่จำเป็นต้องรู้ด้านกฎหมาย เพราะไม่ได้มีหน้าที่ช่วยให้คำแนะนำด้านกฎหมาย แต่ช่วยสื่อสารในกระบวนการทางกฎหมาย ต้องสอบภาษาอังกฤษ เป็นศัพท์ทั่วไปชั้นสูงและศัพท์ทางกฎหมาย รวมถึงกระบวนการศาลและจรรยาบรรณล่าม ต้องได้คะแนน 80% ถึงจะผ่าน

เธอใช้เวลาเตรียมตัว 2 เดือน ท่องศัพท์และอ่านหนังสือหาความรู้เพิ่มเติม จนสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ผ่าน และได้การรับรอง credential ระดับ Tier A (ระดับสูงสุดสำหรับภาษาไทย) จากศาลรัฐแอริโซนาในต้นปี 2562 และได้เป็น “ล่ามศาล” ทำงานฟรีแลนซ์ ไม่ได้ทำประจำ ขึ้นอยู่กับเคส

ในการทำงานแต่ละครั้งจะจ่ายขั้นต่ำ 2 ชั่วโมง ซึ่งงานส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ข้อดีของการสอบเป็น “ล่ามศาล” นอกจากช่วยให้เข้าใจระบบศาล ศัพท์ทางกฎหมายและจรรยาบรรณ ยังมีผลต่อเรตค่าจ้างที่สูงกว่าคนที่ไม่มีใบรับรอง และต่อยอดไปทำล่ามด้านอื่นๆ ได้ เพราะบริษัทเอเจนซี่ หรือหน่วยงานส่วนใหญ่รับเฉพาะคนที่มีวุฒิบัตร หรือ certified

“ก่อนเป็นล่าม เคยดูซีรีส์ดราม่าเกี่ยวกับทางกฎหมาย ทางศาล พูดกันเร็วมาก พอสอบผ่าน ความรู้ที่ได้มาช่วยเยอะมาก เข้าใจได้เร็ว ไปได้ไว เคสที่ผ่านมาในศาลรัฐแอริโซนา ส่วนใหญ่เป็นคดีครอบครัว คดีหย่าร้าง สิทธิปกครองบุตร และความรุนแรงในครัวเรือนของหญิงไทย เวลาได้ช่วยพวกเขาแล้วรู้สึกดี เพราะเรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ช่วยให้ทุกฝ่ายรวมถึงคนไทยสื่อสารได้ราบรื่นไม่มีอุปสรรค”

: หลักจรรยาบรรณล่ามศาลสหรัฐฯ :

การทำหน้าที่ “ล่ามศาล” ในการแปลให้ทุกฝ่าย ต้องยึดหลักจรรยาบรรณล่ามเป็นสำคัญ คุณจิระอนงค์เปิดเผยว่า ล่ามต้องทำตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ควรมีอารมณ์ร่วมกับทางคดีที่เกิดขึ้น เมื่อไปถึงหรือระหว่างรอ ไม่ควรพูดคุยกับฝ่ายใด เพราะจะทำให้ดูลำเอียง หากเป็นคนรู้จักกัน จะเป็นล่ามให้ไม่ได้ และต้องแจ้งให้ศาลทราบทันที ล่ามต้องแปลให้ครบสมบูรณ์ แปลความหมาย (ไม่แปลคำต่อคำ) ใช้ระดับภาษาเดียวกัน ไม่ตกแต่งคำพูด ไม่สรุปความ

“จรรยาบรรณของล่ามศาล ถ้ารู้ว่าความสามารถไม่ถึง ต้องแจ้งกับทางศาล ขอถอนตัวให้ล่ามคนอื่นมาแทน ถ้าเหนื่อยมาก คุณภาพก็จะตก ก็ต้องขอพัก ถ้าไม่เข้าใจล่ามควรถาม ศาลบางที่ให้พกดิกชันนารีเข้าไปด้วย ขอหยุดเปิดดูหาความหมายคำที่ไม่เข้าใจได้ ไม่มีใครเข้าใจทุกคำ แม้แต่เจ้าของภาษาเอง”

: 2 ปี สอบ อบรม ได้ใบประกาศ 12 ใบ หลายด้านจากหลายสถาบัน :

ด้วยนิสัยใฝ่รู้และต้องการฝึกฝนตัวเองตลอดเวลา คุณจิระอนงค์ได้ฝึกวิทยายุทธต่อ โดยเรียนคอร์สล่ามกับสถาบันภาษาไพบูลย์ ได้รู้จักกับ คุณเบญจวรรณ ภูมิแสน หรือ เอ๋ คุณครูและเจ้าของสถาบันเห็นแวว ชวนให้มาทำงานล่ามตู้งานสัมมนาคู่กัน จึงทำให้เธอได้รู้ศักยภาพตัวเองอีกด้าน

ในเวลาไม่ถึง 2 ปี คุณจิระอนงค์พัฒนาจนเป็นล่ามมืออาชีพ ผ่านการสอบและอบรมมากมาย ได้ใบประกาศ 12 ใบ ในหลายด้านจากหลายสถาบัน ได้ทำงานล่ามอื่นๆ อาทิ ล่ามสัมมนา, ล่ามศาลตรวจคนเข้าเมือง, ล่ามทางการแพทย์, ล่ามทางโทรศัพท์และวิดีโอ ซึ่งความสามารถทั้งหมดเกิดได้เพราะความขวนขวายไขว่คว้าโอกาส รวมถึงการไม่หยุดเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ และต้องมี connection กับเพื่อนล่ามคนอื่น เพื่อเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ช่ำชองในวงการ

“การแปลพร้อม หรือแปลฉับพลัน (simultaneous) ล่ามมือใหม่กลัวกันทั้งนั้น เพราะต้องแปลไปพร้อมๆ ผู้พูดโดยทิ้งระยะไม่เกิน 1-3 วินาที ไม่เหมือนกับการเป็นล่ามพูดตาม (consecutive) ซึ่งผู้พูดจะหยุดให้ล่ามแปลแล้วจึงพูดต่อ ศัพท์ต้องแน่น ไวยากรณ์ต้องเป๊ะ ออกเสียงต้องชัดเจน และภาษาดีอย่างเดียวไม่พอ ประสบการณ์ ชีวิต สติ สมาธิ เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำงานแปลพร้อมให้ออกมาดี”

: เบื้องหลังความสำเร็จ คือคำสอนแม่ที่จำไม่เคยลืม :

ทุกความสำเร็จบนเส้นทาง “ล่ามภาษา” ของคุณจิระอนงค์ในวันนี้ ไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้นในวัย 50 แต่เธอมีความมุ่งมั่น มานะ และอดทนมาตั้งแต่เด็ก หลังแม่บอกไว้ “แม่ไม่มีสมบัติอะไรจะให้ แต่แม่จะส่งเสียให้ลูกมีความรู้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้ นั่นคือสิ่งเดียวที่แม่ให้ได้” จากคำของแม่ทำให้เธอขยันเรียน เพราะรู้ว่า “ความรู้จะเป็นสิ่งเดียวที่เปลี่ยนชีวิตได้”

เธอจึงแข่งขันทั้งกับตัวเองให้ได้เกรดดีๆ และแข่งกับคนอื่น ทำกิจกรรมทุกอย่าง ทั้งเล่นกีฬา และตั้งเป้าหมายไว้สูง เพื่อผลักดันตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้า และมักทำอะไรเกินร้อย จนแม่มักบอกให้พักซะบ้าง อย่าอ่านหนังสือหนัก ส่วนครูประจำชั้นก็เขียนในรายงานว่า ให้ผู้ปกครองบอกนักเรียนว่าอย่าหมกมุ่นกับการเรียนมากไป

แรงบันดาลใจที่เธอชอบภาษาอังกฤษ เพราะเป็นวิชาที่สนุก ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นทักษะที่ทำให้ได้เปรียบในการหางาน และก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เธอจึงให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ ตั้งใจเรียนและฝึกฝน จนมีคนเห็นความสามารถ ขณะเรียน ม.ปลาย ที่ ร.ร.สามเสนวิทยาลัย ก็ได้ทำงานไปด้วย หลังมีคนเห็นว่าภาษาอังกฤษดี และแนะนำให้ไปสอนภาษาไทยให้ครอบครัวต่างชาติ ทั้งยังได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษและหาเงินเป็นค่าขนม

: ข้อดีของการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด :

เพราะรู้ว่าชอบภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กๆ เธอจึงมุ่งมั่นเรียนจนจบเอกภาษาอังกฤษจาก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โทฝรั่งเศส) และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ทำงานเป็นนักวิเคราะห์การวิจัยตลาดจนถึงตำแหน่งระดับผู้บริหารกับบริษัททั้งไทยและอเมริกัน ต้องใช้ภาษาอังกฤษตลอดการทำงาน ทั้งเขียน อ่าน พูด ทำให้ได้พัฒนาภาษาอังกฤษเรื่อยมา

คุณจิระอนงค์ แมนโซ หรือ โอ๊ะ ขณะทำหน้าที่
คุณจิระอนงค์ แมนโซ หรือ โอ๊ะ ขณะทำหน้าที่ “ล่ามตู้” ในงานสัมมนา ส่วนภาพล่ามศาลตามกฎระเบียบห้ามถ่ายภาพ

แม้กระทั่งมาอยู่สหรัฐอเมริกา การเรียนรู้ในภาษาอังกฤษก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ในช่วงแรกๆ ที่มาอยู่ ยังฟังเข้าใจไม่ได้หมด สำเนียงฝึกในไทยที่คิดว่าดีใช้ได้ แต่ในบางครั้งคนที่นี่ไม่เข้าใจ แต่เธอฝึกบ่อยๆ พัฒนาตัวเองทั้งการออกเสียง ไวยากรณ์ คำศัพท์ จนดีขึ้นเรื่อยๆ และสามีช่วยสอน ช่วยแก้ไข และเธอเปิดดิกชันนารีทุกวันถ้าเจอศัพท์ไม่รู้หรือไม่เข้าใจ บางครั้งเปิดหลายสิบรอบจนกว่าจะจำเข้าหัว

“ไม่ได้หัวดีไปกว่าคนอื่น แต่เป็นคนขยัน การเป็นล่าม ภาษาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยประสบการณ์และทักษะที่ต้องฝึกฝนหลายๆ ด้าน ถ้าเก่งน้อยกว่าคนอื่น เราสู้เขาได้ถ้าขยัน ใฝ่รู้ พัฒนาตัวเอง ใช้คนที่เก่งกว่าเป็นแรงผลักดัน เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์และฝึกฝนตัวเองให้แกร่งขึ้น ภาษาเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ชีวิตคือการแข่งขันที่สนุกและท้าทาย จงกล้าที่จะลงสนามเพื่อลองอะไรใหม่ๆ ที่จะผลักดันตัวเองไปสู่อีกระดับหนึ่ง”

ปัจจุบันคุณจิระอนงค์นอกจากเป็น “ล่ามศาล” แล้วยังดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมไทยอเมริกันแห่งรัฐแอริโซนา เธอรู้สึกภาคภูมิใจและดีใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือพี่น้องคนไทยอีกมากมายในรัฐแอริโซนา รวมทั้งรัฐอื่นๆ ด้วย ทางสมาคมฯ คอยให้คำแนะนำทางกฎหมาย สวัสดิการของรัฐ สิทธิและหน้าที่พลเมือง เพื่อนำข้อมูลและความรู้ไปพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ

: 5 เทคนิค เก่งภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง :

การสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนไทยทั่วไปมักจะสอนไวยากรณ์และการอ่านเขียน แต่ไม่เน้นการพูดและฟัง สำหรับผู้ที่อยากพูดและฟังภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น คุณจิระอนงค์แนะเทคนิคเริ่มต้นให้เก่งได้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง ดังนี้

1. ลองเริ่มด้วยการเรียนคลาสภาษาอังกฤษฟรีในโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเปิดกว้างมากมาย

2. ดูวิดีโอหรือหนังภาษาอังกฤษ โดยดูซับไตเติล (ไทยหรืออังกฤษ) เพื่อช่วยให้เข้าใจและจับรายละเอียดได้มากขึ้น

3. ถ้าไม่รู้ศัพท์ ก็ค้นหาทันทีทั้งความหมายและการออกเสียง อย่าปล่อยเลยไป (ถ้าจดไว้ด้วยจะดีมาก)

4. หาโอกาสฝึกพูดให้บ่อย ถ้าไม่กล้าพูด ก็จะไม่เกิดการพัฒนา

5. หากมีทุนทรัพย์ อาจจะเรียนกับครูที่เป็นเจ้าของภาษา หรือคนไทยที่สำเนียงภาษาอังกฤษดี ซึ่งตอนนี้สามารถเรียนทางออนไลน์ได้ด้วย

“ยุคสมัยเปลี่ยนไป คนเก่งภาษาอังกฤษกันมากขึ้น การแข่งขันทางภาษาและการทำงานก็สูงด้วย เพราะโลกเชื่อมถึงกันหมดจากความทันสมัยของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต สมัยนี้ภาษาอังกฤษยิ่งสำคัญ ถ้าเก่งภาษาอังกฤษ คุณสามารถทำงานได้ทั่วโลกจากบ้านของคุณเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่เมืองไทยหรือส่วนไหนของโลก” คุณจิระอนงค์ คนไทยคนแรกและคนเดียวที่สอบได้วุฒิบัตร “ล่ามศาล” ในรัฐแอริโซนา สหรัฐฯ กล่าวทิ้งท้าย.

[/responsivevoice]


ที่มา : ไทยรัฐ

1,331 Views