สำนักข่าวต่างประเทศรายงานในวันพุธที่ 20 ก.ย. 2566 ว่า 24 ชั่วโมงหลังจากกองทัพอาเซอร์ไบจานเริ่มปฏิบัติการโจมตีครั้งใหม่ใน นากอร์โน-คาราบัค กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ชาวอาร์เมเนียซึ่งควบคุมพื้นที่ดังกล่าวก็ยอมตกลงหยุดยิงตามเงื่อนไขของรัสเซียแล้ว โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญคือ กองกำลังคาราบัคต้องปลดอาวุธอย่างสิ้นเชิง

อนึ่ง ดินแดนนากอร์โน-คาราบัค เป็นดินแดนแยกตัวภายในประเทศอาเซอร์ไบจาน ปกครองโดยกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียซึ่งเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า สาธารณรัฐอาร์ทซัค (Artsakh) มีประชากรประมาณ 120,000 คน อย่างไรก็ตาม นานาชาติไม่ให้การยอมรับ และถือว่าดินแดนนากอร์โน-คาราบัค เป็นของอาเซอร์ไบจาน

ผู้นำของคาราบัคระบุในแถลงการณ์ว่า พวกเขาบรรลุข้อตกลงยุติความเป็นศัตรูอย่างสิ้นเชิงแล้วนับตั้งแต่เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นเป็นต้นไป โดยมีกองกำลังรักษาสันติภาพของรัสเซีย ซึ่งถูกส่งเข้ามารักษาความสงบหลังเกิดสงคราม 44 วันเมื่อปี 2563 เป็นตัวกลางเจรจา

เจ้าหน้าที่ของคาราบัคยังเรียกร้องประชาชนให้อยู่แต่ในที่พัก อย่าพยายามไปที่สนามบินท้องถิ่นซึ่งอยู่ติดกับฐานของกองกำลังรักษาสันติภาพรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ฝูงชนจำนวนมากยังคงออกไปรวมตัวกันในพื้นที่ใกล้สนามบินภายในระยะเวลาไม่นาน

รัสเซียระบุก่อนหน้านี้ว่า กองกำลังรักษาความสงบของพวกเขาช่วยอพยพประชาชน 2,000 คน ออกจากหมู่บ้านต่างๆ ในคาราบัค หลังปฏิบัติการโจมตีของอาเซอร์ไบจานเริ่มขึ้น ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคาราบัคอ้างว่า การโจมตีที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 32 ศพ เป็นพลเรือน 7 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 200 คน

ด้านสำนักงานประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจานระบุว่า เจ้าหน้าที่ของพวกเขาจะพบกับผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียในคาราบัค เพื่อหารือเรื่องการกลับมารวมกันอีกครั้ง ที่เมืองเยฟลาคห์ (Yevlakh) ในวันพฤหัสบดีที่ 21 ก.ย. โดยเมืองดังกล่าวอยู่ห่างจากเมือง คานเคนดี (Khankendi) หรือที่ชาวอาร์เมเนียเรียกว่า สเตปานาเคิร์ต (Stepanakert) เมืองเอกของดินแดนคาราบัค ราว 100 กม.

ขณะที่นาย นิโคล ปาชินยาน นายกรัฐมนตรีของประเทศอาร์เมเนีย ออกมายืนยันชัดเจนว่ารัฐบาลของเขาไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาใดๆ ของข้อตกลงหยุดยิง และยืนยันว่า เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของรัสเซียต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียในคาราบัคอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงหยึดยิง กองกำลังในคาราบัคต้องปลดอาวุธอย่างสิ้นเชิงและสลายกลุ่ม นอกจากนั้น กองกำลังอาร์เมเนียที่ประจำการที่นั่นต้องถอนกำลังกลับประเทศด้วย แม้ว่ารัฐบาลอาร์เมเนียจะปฏิเสธว่ามีทหารของพวกเขาอยู่ในคาราบัคก็ตาม

ที่มา : bbc

 

49 Views